กทม. เตือน 11 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงขึ้น 30-50 ซม. วันที่ 7-10 ต.ค.64 ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในพื้นที่ 7 เขต
วันที่ 5 ต.ค.64 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาว่า วันนี้ (เวลา 06.00 น.) ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อ.บางไทร ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม. เฉลี่ย 3,088 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.10 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ กทม.
โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.10 น. ที่ระดับ +1.10 ม.รทก. สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.03 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.65 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.16 (ระดับวิกฤติ +0.60) โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.02น. ที่ระดับ +1.14 ม.รทก. ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) : พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนเล็กน้อย ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่จุดวัดสำนักงานเขตดอนเมือง 17.0 มม. จุดวัด ส.คลองดาวคะนอง เขตธนบุรี 15.5 มม. จุดวัด ส.คลองแสนแสบ-คลองตัน เขตวัฒนา 15.5 มม. จุดวัด บ่อสูบศาลอาญารัชดา เขตจตุจักร 14.0 มม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดวันที่ 5 ต.ค.64 ปริมาณน้ำจะไหลหลากรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุด 3,050 – 3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค.64 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30- 50 ซ.ม.
จึงขอให้ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย 1.เขตดุสิต ชุมชนซอยสีคาม (ซอยสามเสน 19 ช่วงปลาย) จำนวน 9 ครัวเรือน ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ (เชิงสะพานกรุงธน) จำนวน16 ครัวเรือน ชุมชนปลายซอยบิตตาคาม (ซอยสามเสน 13 ช่วงปลาย) จำนวน 84 ครัวเรือน 2.เขตพระนคร ชุมชนท่าวัง จำนวน 9 ครัวเรือน 3.เขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนวัดปทุมคงคา (ท่าน้ำสวัสดี) จำนวน 12 ครัวเรือน ชุมชนตลาดน้อย จำนวน 1 ครัวเรือน .เขตบางคอแหลม ชุมชนหลัง ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ จำนวน 10 ครัวเรือน ชุมชนวัดบางโคล่นอก จำนวน 10 ครัวเรือน 5.เขตยานนาวา ชุมชนโรงสี ถนนพระราม 3 จำนวน 60 ครัวเรือน 6.เขตบางกอกน้อย ชุมชนดุสิต นิมิตรใหม่ จำนวน 16 ครัวเรือน และ 7.เขตคลองสาน ชุมชนเจริญนคร ซอย 29/2 จำนวน 12 ครัวเรือน ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำโดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น อนึ่ง ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
+ อ่านเพิ่มเติม