พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ก่อนตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ดังนี้
1. ทีมนักวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทย ฯ ได้เสนอผลวิจัยในระดับนานาชาติ โดยส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพื่อแบ่งปันเพื่อนนักวิจัยแวดวงอื่น ซึ่งระหว่างรอตีพิมพ์พบว่างานวิจัยมีการคำนวณค่าสถิติผิดพลาด 1 จุด คือ ค่านัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างน้อย ตอนแรกค่านัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.03 หมายถึงทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์คงเดิม 97 ครั้ง เมื่อพิจารณาอีกครั้งพบว่าค่าอยู่ที่ 0.112 หมายถึงทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์คงเดิม 90 ครั้ง
จึงต้องถอนงานวิจัยออกมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญในทางวิชาการ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผลลัพธ์ และได้นำเอกสารกลับมาแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนส่งกลับไปตีพิมพ์ใหม่ ทั้งในวารสาร medRxiv และวารสาร IJID มิได้ถูกปฏิเสธจากวารสารแต่อย่างใด และเนื้อหางานวิจัยหลักยังเป็นไปตามรายงานฉบับแรก คือ ใช้ป้องกันผู้ติดเชื้อโควิดอาการเล็กน้อย ไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ทิศทางนโยบายการใช้ฟ้าทะลายโจรจึงยังเหมือนเดิม ทั้งการจ่ายยาในระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน
2. เมื่อเริ่มพบการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคใหม่ ยังไม่มียาที่ได้รับรองการรักษาโดยตรง จึงมีการศึกษายาชนิดต่างๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษาโควิดได้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ศึกษาฟ้าทะลายโจรที่มีคำตอบระดับห้องทดลองแล้ว โดยศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรงอายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และศึกษาแบบกสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่คำนวณสำหรับการรักษา จำนวน 29 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับยาที่ไม่มีสารสกัดฟ้าทะลายโจร (ยาหลอก) 28 ราย พบว่ามีแนวโน้มได้ผลดี ลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีปอดอักเสบ
3. ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่พบอาการปอดอักเสบทั้งหมด กลุ่มที่ใช้ยาหลอกมีปอดอักเสบ 3 ราย คิดเป็น 10.7% ขณะที่การคงอยู่ของตัวไวรัสในวันที่ 5 ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรพบตัวไวรัส 10 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้สารสกัดฟ้าทะลายโจร พบตัวไวรัสเกินครึ่งคือ 16 ราย จึงตอกย้ำความเป็นไปได้ของฟ้าทะลายโจรที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่พบปัญหาผลกระทบเรื่องตับ ไต และระบบเลือด ถือว่ามีความปลอดภัย จึงผลักดันการศึกษาต่อเนื่อง นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการใช้ยา
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้วางแผนทำการวิจัยโดยขยายขนาดตัวอย่างมากขึ้น รวมถึงการเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานอื่น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นโครงร่างวิจัยเพื่อผ่านคณะกรรมการศึกษาวิจัยในคน นอกจากนี้ จะเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาคปฏิบัติการ รพ. ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนางานวิจัยเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการนำไปใช้จริงในวงกว้างต่อไป