'หมอนิธิพัฒน์' โพสต์ “ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ” แนะมองผลประโยชน์ส่วนรวม คนรวยควรสมัครใจไม่รับเยียวยา
logo ข่าวอัพเดท

'หมอนิธิพัฒน์' โพสต์ “ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ” แนะมองผลประโยชน์ส่วนรวม คนรวยควรสมัครใจไม่รับเยียวยา

ข่าวอัพเดท : รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ” แนะทุกกลุ่มทุกฝ่ายหันมามองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ขอคนรวย หมอนิธิพัฒน์,ล็อกดาวน์,โควิด,ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ,เยียวยา,ชดเชย

746 ครั้ง
|
09 ก.ค. 2564
        รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ” แนะทุกกลุ่มทุกฝ่ายหันมามองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ขอคนรวยควรสมัครใจไม่รับชดเชย ชี้ เดลตา คุกคามชีวิตรุนแรง ยันไม่ใช่การขู่ให้กลัว มีอุทาหรณ์ให้เห็น รอแต่ว่าใครจะเป็นผู้โชคร้ายคนต่อไป
 
       วันนี้ ( 9 ก.ค.64 ) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ล็อกดาวน์แค่ไหนจึงจะพอ” โดยระบุความตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างให้นิยามไปแบบนานาจิตตัง คงด้วยมองผลกระทบที่กลุ่มตัวเองจะได้รับเป็นหลัก แต่ถ้าทุกกลุ่มทุกฝ่ายหันมามองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เริ่มจากเป้าหมายการหยุดยั้งการระบาดของโรค ด้วยการลดจนเกือบงดการเคลื่อนย้ายของประชากร ช่วยกันมองหาวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นร่วมกับต้นทุนโอกาสในการฟื้นตัว
 
       “กลุ่มที่มีทรัพย์สินเหลือกินเหลือใช้ ต้องยอมไม่รับการชดเชย ควรสมัครใจแบ่งปันเพื่อจุนเจือกลุ่มคนที่แม้จะได้รับการชดเชย แต่ก็ยังลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น เมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปได้ทุกคนจะต้องรอดไปด้วยกันเพื่อพลิกฟื้น และเมื่อทุเลาแล้วอย่าลืมถมช่องว่างเก่าให้แคบลงด้วย เพื่อการเผชิญวิกฤตครั้งต่อไปเราจะได้เข้มแข็งขึ้น”
 
       หักมุมไปเชิงวิชาการกันดีกว่า พรุ่งนี้ครบวงรอบสำหรับว่าที่อายุรแพทย์รุ่นใหม่สองหญิงสองชายจะมาทบทวนวรรณกรรมเชิงวิชาการ ให้แพทย์รุ่นพี่และอาจารย์ช่วยกันให้ความเห็นและชี้แนะ ที่จริงเป็นการกินแรงยืมมือเด็กป้อนความรู้ใหม่ๆ มาให้ แต่ใส่ไข่ใส่สีว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้ไม่มีข้อครหาเรื่องการใช้แรงงานผู้เยาว์ ครั้งนี้เราจะทบทวนองค์ความรู้เรื่องการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบไม่รุกล้ำหรือแบบไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (noninvasive or nonintubated ventilation) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่มีการระบาดของโควิดจนมีผู้ป่วยเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวจำนวนมาก 
 
         ช่วงนี้กิจการดูแลผู้ป่วยโควิดวิกฤตของทีมเราเจริญแบบรัวๆ สามารถเอาเครื่องช่วยหายใจออกได้ถึงห้ารายในสามวัน ได้ผลดีรวมสี่ราย มีหนึ่งรายที่สมองยังฟื้นตัวไม่ดีทำให้การใช้ noninvasive  ventilation ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ ตัวคุณยายเองเกิดปอดอักเสบโควิดตั้งแต่เดือนก่อน ตอนนี้ตรวจไม่พบเชื้อจากเสมหะในปอดแล้ว แต่เนื้อปอดถูกทำลายจนเกิดเป็นพังผืดจำนวนมากมาก นำไปสู่การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติจนไม่สามารถหายใจได้เองพอ และไม่สามารถควบคุมการหายใจให้เหมาะสมด้วยตัวเองได้ ลักษณะคล้ายกับกรณีผู้ว่าสมุทรสาคร คงเป็นหนังชีวิตที่ต้องจับตาดูกันยาวๆ ต่อไป 
 
      เช่นเคยกองทัพเดินด้วยท้อง วันนี้เรามีก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าอร่อยตรงข้ามวัดเครือวัลย์ มาบำรุงพลังทีมพยาบาลตัวน้อยๆ สำหรับเตรียมไปช่วยกันจับผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงน้ำหนักตัว 124 กก.พลิกคว่ำระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ที่เห็นตัว (ไม่) น้อยประกอบฉากนั้นเป็นข้อยกเว้น นานๆ จะหาแบบนี้ได้ในหมู่พยาบาลอันแสนทรหดของทีมเรา
 
พรุ่งนี้มาช่วยกันลุ้นว่าหวยล็อคจะมีจริงหรือไม่ แล้ววันอาทิตย์ออมแรงไว้ชมอิตาลีขย่มอ้งกฤษ
#จับตาการล็อคดาวน์
 

         ทั้งนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังได้ยกตัวอย่างคนไข้ 3 คน ได้แก่ 1. หญิง อายุ 84 ปี เดิมแข็งแรงดี 2. หญิง อายุ 39 ปี เดิมแข็งแรงดี และ 3. ชาย อายุ 44 ปี มีภาวะอ้วน และเพิ่งรู้ว่าเป็นเบาหวาน ซึ่งทั้ง 3 คน อยู่ในพื้นที่ท่าพระ-ภาษีเจริญ โดยติดเชื้อกันส่วนใหญ่หรือทั้งครอบครัว พวกเขามา รพ.ศิริราช ด้วยอาการของปอดอักเสบโควิดรุนแรง รายแรกต้องใส่ท่อช่วยหายใจขณะนำส่ง รายที่ 2 ใส่ทันทีเมื่อถึง รพ. ส่วนรายที่ 3 ใช้ไฮโฟลว์ได้พักหนึ่งแล้วไม่ไหวต้องใส่ท่อ ทั้ง 3 คน ต้องรอเตียงย้ายเข้าไอซียูโควิดกันไม่น้อยกว่า 12 ชม.
 
          ผลเอกซเรย์ปอด พบมีฝ้าขาวกระจายทั่วปอดในทุกคน นอกจากนี้ ทุกคนยังมีลักษณะทางคลินิกเหมือนผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง กล่าวคือ ความดันโลหิตต่ำ แลคเตตในเลือดสูง เม็ดเลือดขาวในเลือดสูง โปรแคลซิโตนินในเลือดสูง และดีไดเมอร์ในเลือดสูงลิบลิ่ว กำลังรอผลตรวจสายพันธุ์ซึ่งน่าจะเป็นเดลตาทั้งหมด
 
         อุทาหรณ์นี้ไม่ใช่การขู่ให้กลัว แต่มันช่วยยืนยันว่าเจ้าวายร้ายตัวนี้มาเคาะประตูบ้านเราทุกคนกันถ้วนหน้าแล้ว รอแต่ว่าใครจะเป็นผู้โชคร้ายเช่นพวกเขาทั้ง 3 คน นอกจากทำให้ปอดอักเสบเร็วแล้ว ยังอาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรงจนคุกคามชีวิต เช่นเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ โปรดอย่านิ่งดูดายล็อกดาวน์ตัวเองและครอบครัวให้สนิท ในยามนี้จะไปหวังพึ่งภาครัฐที่ตัดสินใจเชื่องช้าคงไม่ไหวแล้ว โรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างศิริราช หรือที่อื่นๆ ก็อาจช่วยเราไม่ได้มาก เพราะล้นเกินศักยภาพจนผู้ป่วยโควิดอาการหนักตกค้างอยู่ทุกหย่อมหญ้า