สำนักงบประมาณเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท กระทรวงศึกษาฯได้งบมากที่สุด
เมื่อ 17 พ.ค. 64 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายงานประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระแรก หรือวาระรับหลักการ ก่อนจะตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาต่อไป
ส่วนสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ฉบับนี้มีการตั้ง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,100,000,000,000 บาท (3.1 ล้านล้านบาท) ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 5.66 (งบประมาณปี 2564 คือ 3,285,962.5 ล้านบาท)
มีโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้
- รายจ่ายประจำ 2,360,543 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรอง 24,978.6 ล้านบาท
- รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท
- และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท
โดยประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท งบขาดดุล 700,000 ล้าน
สำหรับรายละเอียดการจัดสรรงบของหน่วยงาน มีการตั้งงบกลาง 571,047.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 43,568.9 ล้าทบาท หรือร้อยละ 7.1 ซึ่งในงบกลางตั้งรายจ่าย 11 ส่วนงาน ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและการต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท (รองรับการประชุมAPEC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565)
- ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
- เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
- เงินช่วยเหลือข้าราชการลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท
- เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 310,600 ล้านบาท
- เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท
- เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
- เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท
- เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณรายกระทรวง มี 5 กระทรวงรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสูงสุด ได้แก่
- กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 332,398.6 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรลดลงจากปีก่อน 24,000 ล้านบาท
- กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 316,527 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนกว่า 17,000 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง วงเงิน 273,941.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,500 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม วงเงิน 203,282 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนกว่า 11,000 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม วงเงิน 175,858.7 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนกว่า 14,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ งบประมาณของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงหรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 122,729.9 ล้านบาท หน่วยงานของรัฐสภาจัดสรรงบประมาณ 8,208 ล้านบาท หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 18,468.6 ล้านบาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 78,305 ล้านบาท ส่วนราชการในพระองค์ 8,761.4 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณของกองทัพกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 203,282 ล้านบาท แบ่งเป็น
- งบประมาณของกองทัพบก 99,376.8 ล้านบาท
- กองทัพเรือ 41,307.4 ล้านบาท
- กองทัพอากาศ 38,404.8 ล้านบาท
- กองบัญชาการกองทัพไทย 14,580.1 ล้านบาท
- สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 9,197.2 ล้านบาท
- และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 415.7 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานระดับกระทรวงถูกปรับลดงบประมาณ เกือบทุกกระทรวง โดย
- กระทรวงศึกษาธิการถูกปรับลดมากที่สุด ถึง 24,051 ล้าน
- รองลงมากระทรวงแรงงาน 19,977 ล้าน
- กระทรวงมหาดไทย 17,144 ล้าน
โดยมีเพียง 3 กระทรวงที่ได้งบประมาณเพิ่ม ได้แก่
- กระทรวงการคลัง
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- กระทรวงพลังงาน
ที่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นมากสุด 5,501 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นงบของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ