โควิด-19 รอบนี้ ระบาดแรงขึ้น 15 เท่า เชื้อลงปอดเร็ว คาดดับอีกนับ100 ใส่ท่อ1 ใน 4 เสียชีวิต 3 องค์กรแพทย์ วอนฉีดวัคซีนแก้วิกฤต ไม่อยากเห็นสายพันธุ์ไทย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน” เพื่อร่วมหาคำตอบที่ทุกคนอยากรู้เกี่ยวกับ “วัคซีน COVID-19”
วันที่ 11 พ.ค.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หารือร่วมกันถึงยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงการสื่อสารถึงประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ เผยว่าโควิด-19 รอบนี้มีจำนวนผู้ป่วยหนักต้องนอนไอซียูมากขึ้น นอกจากปัจจัยเรื่องสายพันธุ์แล้ว ยังพบคนไข้ไปในสถานที่เสี่ยงแล้วการ์ดตก โดยเฉพาะหนุ่มสาว และยังพบความชัดเจนว่า ความอ้วนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเสียชีวิตด้วย สำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น 25-30% โดย 5% อาการหนักมาก แปลว่าเมื่อเราเรามีผู้ป่วย 100 คนเราจะมีคนอาการหนัก 30 คน ถ้าเรามีผู้ป่วยพันคน ก็จะมีอาการหนัก 300 คน และถ้ามีหลักหมื่นคนเราจะมีคนอาการหนักกว่า 3 พันคน ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยล้น รพ.
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 15 เท่า มีคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศกว่า 400 คน ซึ่งจากสถิติการเสียชีวิตในกลุ่มที่ใส่ท่อพบถึง 1 ใน 4 คน ดังนั้นคาดว่าเราจะมีคนเสียชีวิตอีกประมาณ 80-100 คน ดังนั้นขอให้ประชาชนตระหนัก ทั้งนี้เฉพาะ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 140 คน มีคนไข้หนัก 32 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 คน นอกจากนี้ยังมีการเช่าโรงแรมทำเป็นฮอสพิเทล 2 แห่ง มีผู้ป่วยประมาณ 300 คน
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า การระบาดรอบนี้มีผู้ป่วยเชื้อลงปอดมากกว่ารอบที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการไอซียูมากขึ้น แต่หากมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นก็จะทำให้จำนวนคนติดเชื้อมีอาการรุนแรงน้อยลง โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ควรมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องการการนำไปติดคนในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ
+ อ่านเพิ่มเติม