วันที่ 20 เมษายน 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า
อย่า.... ในโควิด-19
20/4/64
อย่าทนงตนว่าเป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร
* นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้
อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการ จะรักษาง่ายๆ
* กลไกของการติดเชื้อเมื่อเข้าร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวนและถ้าหยุดยั้งไม่ได้หรือไม่ทัน เชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสอื่นๆ จากผลของการอักเสบจะกระทบทุกอวัยวะในร่างกายและทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็กๆทั่วไป ด้วย
อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ
* เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกันและปอดอักเสบที่เห็นนั้นจะกลายเป็นทั้งจากไวรัสและแบคทีเรียซ้ำซ้อน
อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว
* ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตามยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้
อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
* สถานที่ดังกล่าวและยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคนโอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น และเชื้อที่อยู่กับละอองฝอย จะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน และแม้เมื่อตกพื้นไปแล้วการเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)
อย่านิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้
* โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและเกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อ และการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้นและนอกจากนั้นโรคประจำตัวหลายชนิด จะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้วเช่นโรคหัวใจอัมพฤกษ์การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจาก โควิด-19 เองและโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น
สรุปสั้นๆว่า ต้องรักษาตัวให้แข็งแรงคุมโรคประจำตัวให้หมดจดที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง
ช่วยตัวเองได้ = ช่วยคนไทยทั้งประเทศ
+ อ่านเพิ่มเติม