หลายประเทศเริ่มเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องตามมาด้วยกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองผู้สูงวัย อย่างเรื่องการบริการจัดการทรัพย์สินเป็นต้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่สามารถคุ้มครองท่านในวัยชราให้พ้นจากเหล่ามิจฉาชีพได้
หลายท่านคงได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง "I Care a Lot ห่วง…แต่หวังฮุบ" ภาพยนตร์ใหม่จาก Netflix ที่ได้สาวสุดเท่ห์อย่าง โรซามันด์ ไพค์ มาเป็นนักแสดงนำ เดาว่าหลายท่านคงรู้จักเธอเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่อง Gone Girl และบอกได้เลยว่าใน I Care a Lot เธอก็ฉลาดเป็นกรดไม่แพ้กัน ซึ่งล่าสุด โรซามันด์ ไพค์ เพิ่งคว้ารางวัลแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์คอมเมดี้ จากบทบาทสาวนักตุ้มตุ๋น มาร์ลา เกรย์ จากเรื่อง I Care a Lot ในเวทีลูกโลกทองคำ 2021
I Care a Lot ห่วง…แต่หวังฮุบ เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ เจ เบลกสัน เล่าเรื่องราวของ มาร์ลา เกรย์ ผู้พิทักษ์ (The Guardian) ตามกฎหมาย มีหน้าที่คอยดูแลทรัพย์สินให้กับ "คนชรา" ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ แต่มาร์ลากลับทำให้คนชราเหล่านั้นกลายเป็น "เหยื่อ" แทนที่จะเป็นผู้ถูกคุ้มครอง
มาร์ลาร่วมมือกับเครือข่ายของเธอ ทั้งแพทย์และบ้านพักคนชรา เพื่อเฟ้นหาเหยื่อฐานะดี ที่ไม่มีลูกหลาน หรือไม่ได้รับการดูแลจากลูกหลานสักเท่าไหร่ โดยจะให้แพทย์ออกใบรับรอง ก่อนส่งต่อให้ศาลพิจารณาเป็น "บุคคลไร้ความสามารถ" ไม่อาจที่จะอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องมาอยู่ในความดูแลของมาร์ลา จากนั้นเธอจะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของเหยื่อเหล่านั้นได้ทันทีด้วยสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย รวมไปถึงการตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเหยื่อด้วย
มาร์ลาสามารถอ้างได้ว่าเธอบริหารเงินของคนชราเหล่านั้น ด้วยการนำเงินไปใช้จ่ายดูแลผ่านบ้านพักคนชรา หน้าที่ผู้พิทักษ์ของมาร์ลาจึงกลายเป็นช่องทางทำเงินให้เธอได้เป็นกอบเป็นกำ แต่แล้วมาร์ลาก็ต้องมาสะดุดเข้ากับตอของ เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน ป้าแก่ฐานะดี ไม่มีลูกหลาน แต่สืบไปสืบมากลับพบว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับแก๊งมาเฟียสุดโหดจากรัสเซีย จากป้าแก่ธรรมดาๆ ที่ตอนแรกตกเป็นเหยื่ออาจกลับกลายเป็นผู้ล่าเสียอย่างนั้น
ในช่วงแรกของการดู ผู้ชมหลายท่านอาจรู้สึกโกรธเกรี้ยวกับการกระทำของมาร์ลา แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศโลกที่ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา เหล่ามิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายหลอกฮุบเอาทรัพย์สินจากเหล่าคนชราที่น่าสงสารเหล่านี้อย่างน่าเศร้าใจ
โดยเว็บไซต์ Den of Geek ได้ยกตัวอย่างกรณีสุดอื้อฉาวของผู้พิพากษาจอห์น ฟิลลิปส์ แห่งเมืองนิวยอร์ก ผู้สร้างอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ในย่านบรูคลิน มูลค่ามากถึง 20 ล้านดอลลาร์ ในช่วงยุค 80-90 รวมถึงโรงภาพยนตร์หลายแห่งที่กลายเป็นแลนด์มาร์คในย่านนั้น
แต่หลังจากที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ศาลพิพากษาให้เขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถในต้นปี 2000 และต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่สุดท้าย ในปี 2008 ฟิลลิปส์กลับถูกปล่อยให้แข็งตายในศูนย์รักษาโรคสมองเสื่อม (ซึ่งเปิดโดยไม่มีใบอนุญาต) นอกจากนี้ ผู้พิทักษ์ยังขายโรงภาพยนตร์และทรัพย์สินอื่นๆ ของฟิลลิปส์เป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว
หรือกรณีของซุป'ตาร์สาวชื่อดัง "บริตนีย์ สเปียร์ส" ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังกับการยื่นให้ศาลถอดพ่อจากการเป็นผู้พิทักษ์ของเธอ โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากมรสุมชีวิตอันรุมเร้าที่ทำให้สุขภาพจิตของเธอแย่ลงเรื่อยๆ จนศาลจัดให้เธอเป็นบุคคลไร้ความสามารถและแต่งตั้งให้ เจมี สเปียร์ส พ่อแท้ ๆ ของเธอและทนายส่วนตัวมาเป็นผู้พิทักษ์ คอยดูแลเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตของเธอ ทั้งด้านกฏหมาย ทรัพย์สิน สุขภาพ รวมถึงงานทั้งหมด
เจมี เข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ของบริตนีย์ตั้งแต่ปี 2008 โดยในตอนแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะบริตนีย์สามารถฟื้นฟูตัวเองจากปัญหาหลายด้านจนกลับมาเป็นนักร้องสาวเบอร์หนึ่งของโลกได้อีกครั้งในช่วงอัลบั้ม Circus แต่ทว่าช่วงระยะหลังมานี้ เหล่าแฟนเพลงก็ได้ออกมาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจมีกุมชีวิตของบริตนีย์มากเกินไป เกิดการตั้งคำถามว่านี่เป็นการหากินกับลูกของตัวเองเกินไปหรือไม่ จนเกิดเป็นแคมเปญ #FreeBritney นำไปสู่การที่บริตนีย์ฟ้องถอดพ่อของตนเองออกจากการเป็นผู้พิทักษ์
ส่วนในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีกฏหมายที่คุ้มครองผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สูงอายุกระจายกันไปอยู่ในกฏหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้สูงอายุในบางประเด็นเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ,พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตัวผู้สูงอายุอาจปฏิเสธความช่วยเหลือ กรณีลูกหลานเป็นผู้กระทำผิด
รวมไปถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสถานะบุคคลที่ให้ความคุ้มครองบุคคลไร้ความสามารถ ที่จะต้องอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ตามคำสั่งศาล กรณีนี้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าบุคคลที่ไปร้องขอต่อศาลมีเจตนาดี หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง เนื่องจากขาดการกำกับดูแลผู้พิทักษ์ว่าได้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมหรือไม่