จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Starlink (สตาร์ลิงก์) โครงข่ายอินเทอร์เน็ตรอบโลกผ่านระบบดาวเทียม ภายใต้โครงการ SpaceX โดย Elon Musk ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เริ่มเปิดทดสอบแบบ Public Beta ให้ผู้ใช้ในบางประเทศมาแล้ว โดยความเร็วอินเทอร์เน็ตดาวเทียมตัวนี้อาจสูงถึง 50-150Mb/s, Latency ที่ 20-40 ms เริ่มเปิดให้จองคิวสำหรับใช้บริการแบบ Public Beta แล้วรวมถึงในประเทศไทย
โดยผู้ที่สนใจสามารถกดสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ของ Starlink โดยต้องชำระเงิน 99 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,000 บาท) ซึ่งเท่ากับค่าบริการรายเดือนที่กำหนดเอาไว้พร้อมทั้งกำหนดวันเวลาที่อาจเปิดให้ใช้บริการเป็นช่วงปี 2022 (หรือ 2021 ขึ้นอยู่กับที่อยู่ที่กรอกเข้าไป) ซึ่งพื้นที่ที่จะได้รับบริการก่อนใครเพื่อนก็จะเป็นประเทศ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และสหราชอาณาจักร
ก่อนหน้านี้ Starlink เปิดให้ผู้ใช้ได้ทดสอบแบบ Public Beta ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว โดยคิดค่าบริการ 99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เราเตอร์ Wi-Fi และอื่น ๆ ในราคา 499 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 15,000 บาท)
SpaceX ระบุว่าตอนนี้ได้ขยายโครงข่ายดาวเทียมในวงโคจรไปมากกว่า 1,000 ดวงแล้ว โดยออกแบบมาเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ผู้ใช้ทั่วโลก และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว FCC ได้อนุมัติให้ SpaceX สามารถปล่อยดาวเทียมได้ 11,943 ดวง, SpaceX ตั้งเป้าว่าจะปล่อยดาวเทียม 4,425 ดวงภายในปี 2024
สำหรับจุดเด่นของการที่อินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink จะให้สปีดดาวน์โหลดของอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วมากๆ ควบคู่ไปกับความหน่วงต่ำที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม น่าประทับใจ ซึ่งบริการอินเทอร์เน็ต Starlink จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยราคาที่ถูก (แนวคิดของมัสก์) ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยหรือว่าใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ซึ่งเป็นการพังทลายเพนพอยต์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ที่เราได้รู้จักกับนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต (รายงานกว่า 50% ของประชากรโลก ณ วันนี้ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต)
แต่ข้อเสีย คือเป็นอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อสัญญาณกับตัวหน้าจานดาวเทียมโดยตรง Starlink จึงแนะนำให้ผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงการหันหน้าจานในทิศทางที่จะมีวัตถุหรือสิ่งของใดๆ มาบังสัญญาณซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับคุณภาพการเชื่อมต่อได้
ล่าสุดฝั่งบ้านเรา Blognone รายงานว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม ยืนยันว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม (กรณีนี้คือ Starlink แต่ก็รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วย) จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมก่อน
สำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้มายื่นขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด "มีแต่การขอข้อมูลและปรึกษาการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติ" เท่านั้น
+ อ่านเพิ่มเติม