สถานการณ์ที่เมียนมา นักศึกษาหญิงวัย 19 ปีที่ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางที่ศีรษะ ระหว่างการสลายการชุมนุม ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เสียชีวิตแล้ว นับเป็นผู้เสียชีวิตคนแรกจากการรัฐประหารในครั้งนี้
เว็บไซต์ข่าวเมียนมา ไทม์ สื่อท้องท้องถิ่น รายงานว่า นักศึกษาหญิงวัย 19 ปีที่ถูกตำรวจยิงที่ศีรษะ ระหว่างการสลายการชุมนุม ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เสียชีวิตแล้ว หลังจากที่เมื่อวานนี้ แพทย์ประกาศว่า เธอมีภาวะสมองตาย และแนะนำครอบครัวให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ นับเป็นผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเมียนมา รายแรกที่เสียชีวิต
ด้านสื่อท้องถิ่นอีกแห่ง อย่าง เมียนมา นาว (Myanmar Now) รายงานว่า กองทัพเมียนมาได้พาตัวเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งในพื้นที่รอบ ๆ นครย่างกุ้ง ไปยังค่ายทหารเพื่อดำเนินการสอบสวน หลังจากที่กองทัพเดินหน้าจับกุมเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ UEC ระบุว่า นี่ยังไม่ใช่การจับกุม แต่เป็นเพียงการนำตัวมาเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยพวกเขายังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือ และเข้าถึงการแพทย์ที่จำเป็นได้
ส่วนบรรยากาศในนครย่างกุ้ง ตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้ (13 ก.พ. 64) ผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคน นัดรวมตัวกันประท้วงเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร และยังคงเรียกร้องให้ทางการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ผู้ชุมนุมบางส่วนยังพากันเดินขบวนไปที่ด้านหน้าสถาตเอกราชทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจออกมาตรการกดดันรัฐบาลของกองทัพเมียนมาเพิ่มมากขึ้น
ส่วนที่มัณฑะเลย์ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นทนายความ ออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนน ถือป้ายประท้วง ย้ำจุดยืนไม่เอารัฐประหาร โดยมีบางส่วน เดินไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัวไป โดยมีรายงานว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ มีผู้ถูกจับกุมตัวไปแล้วกว่า 320 คน
ขณะที่เมื่อวานนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประชุมฉุกเฉิน และมีมติเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ปล่อยตัวนางอองซานซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ รวมถึงเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดมากขึ้นกับทางการเมียนมา