"นายชวน หลีกภัย"ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสในการเมืองของคนพิการ ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นายชวน กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยในฐานะเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจ โดยที่ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทา 3 สถาบันตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์โดยตรงของความเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการนำประชาชนเข้ามาเป็นตัวแทนในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กันคนทั้งประเทศโดยวิธีการเลือกตั้ง
ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม ทุกฉบับก็ยอมรับความสำคัญของการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. ทำให้เรารู้อนาคตว่า ฝ่ายบริหารที่มาจะเป็นฝ่ายใด เหมือนกับ 50ปีที่แล้วสมัยตนเป็น ส.ส. ครั้งแรก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 กำหนดให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง ส่วน ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ก็รู้แล้วว่าจอมพลถนอม จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก่อนที่จอมพลถนอมจะรัฐประหารตัวเอง ซึ่งในสมัยนั้นการรัฐประหารเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ต้องมีเหตุมีผลแค่ รำคาญ ส.ส. ในรัฐบาลกันเองก็รัฐประหารแล้ว แต่พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยที่พัฒนามายาวนานก็ทำให้ ระบอบผระชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้น ประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมเริ่มหวงแหนสิทธิของตัวเอง
จนกระทั้งสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2534 คิดว่าน่าจะไม่มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่สิ่งที่เรานึกไม่ถึงกลับ มีเหตุการณ์ที่แปลกปลอมเข้ามา
“ผมเคยใช้คำว่าเราเคยมีอหิวาตกโรค โรคเรื้อน วัณโรค รักษาไม่หายเพราะไม่มีวัคซีนสมัยนั้น ที่ผมเล่าเรื่องนี้เพราะว่า เปรียบการเมืองฉันใด โรคที่เราไม่คิดว่ารักษาหายได้ ต่อมามีวัคซีนมียา แต่ก็มีโรคใหม่เกิดขึ้นคือโรคเอดส์ ซึ่งไม่มีการป้องกัน และเกิดการประท้วงไม่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันโรคเหตุเพราะคนจะกลัว อันนี้คือสิ่งที่เราไม่คิดว่าโรคร้ายแรงหมดแล้วจะกลับมา ฉันใดการเมืองก็เหมือนกัน ที่ผมเปรียบเทียบเพราะครั้งหนึ่ง ทหารเคยเป็นเงื่อนไขของปัญหายึดอำนาจเข้ามา ทั้งที่ประชาธิปไตยเราเข้มแข็งพอแล้วไม่มีเงื่อนไขที่จะยึดอำนาจแล้ว แต่ก็ยังเกิด"
นายชวน กล่าวว่าในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง2สมัยนั้นได้ห้ามพลเรือน ไปขอยศทหาร ตอนนั้น พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค มีคนมาประจบจะให้ยศพลเอก เสธ.นั่น ผมก็ห้าม เสธ.นั่นอาจจะงอน แต่ก็เข้าใจ ผมบอกว่าพี่อย่าไปยินยอมอย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ทหารเอามาอ้างเป็นเงื่อนไข ต้องระวังการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มากที่สุด และตั้ง "พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์" ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพื่อเชื่อว่าท่านเป็นคนสุจริต หวังให้ ไปตรวจสอบพิรุธในโครงการต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การยึดอำนาจทุกครั้งจะมีการกล่าวอ้างเรื่องของการทุจริต ดังนั้นนักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เขาเอาไปอ้าง เหมือนที่ทุกวันนี้มีโรคใหม่เหมือนโรคเอดส์เกิดขึ้น คือ "ธุรกิจการเมือง" ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ซื้อนักการเมือง ซื้อเสียงเลือกตั้ง ซื้อพรรคการเมือง ซื้อสื่อมวลชน ซื้อองค์กรอิสระ และลุกลามไปสถาบันยุติธรรม และหากย้อนไปดูคดีที่เกิดขึ้นมากมาย มีรัฐมนตรีติดคุกไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งไม่เคยปรากฎใน 88 ปี และจะได้เห็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับการเมืองของไทยอันเกิดจากธุรกิจการเมืองที่ทำให้ประชาธิปไตยเราจะไม่เข้มแข็ง
นายชวน กล่าวต่อว่า เราเลือกแล้ว ว่าประเทศไทยจะปกครองใน"ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไม่ใช่"ระบบประธานาธิบดี"เพราะประเทศเรามีระบบการปกครองผ่านมาเกือบพันปีด้วยระบบที่มีพระเจ้าแผ่นดิน เพียงแต่ใช้ชื่อที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ยุคแล้วแต่สมัย แต่ไม่เคยเปลี่ยนเป็นระบบอื่น ไม่เคยไปทดลองเป็นระบบสาธารณรัฐ เราจึงตัดสินใจเมื่อ 88 ปีที่แล้ว ว่าเราเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อไปอ่านเนื้อหาแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าบ้านเมือง
“ทั้งที่ความจริงแล้วบ้านเมืองเราไม่ได้มีปัญหา แม้จะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระเจ้าแผ่นดินของเราก็ไม่ได้เหี้ยมโหดเหมือนในหนังฝรั่ง เราเห็นข้อความที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระองค์ทรงเขียนบันทึกเป็นจดหมายไว้ชัดเจนว่าพระองค์สละราชสมบัติเนื่องจากพระองค์ไม่เห็นด้วยกับที่คณะราษฎร์ทำ พระองค์ยังรับสั่งไว้ในจดหมายว่าแม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชพระองค์ไม่เคยใช้อำนาจในทางไม่ดีที่มีผลร้ายต่อประชาชน อันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบเราได้รับการยอมรับ” นายชวน กล่าว
นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ทฤษฎีโดมิโนในขณะเกิดเหตุอินโดจีน ในปี 2518 ที่ประเทศในภูมิภาคเปลี่ยนไปทีละประเทศและมีการคาดหมายว่าประเทศไทยก็จะไม่รอดต้องเปลี่ยนตามไปด้วย โดยหากได้ศึกษาอย่างละเอียดจะทราบถึงเหตุใดที่ไทยถึงรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่ประเทศไทยมีการป้องกันตัวเองโดยยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพโดยยึดหลักว่าให้ไปต่อสู้ข้างนอกดีกว่ามาต่อสู้ข้างใน แต่ทั้งนี้เราก็ไม่สามารถเอามาตรฐานปัจจุบันไปวัดอดีตได้
“นอกเหนือจากการที่รัสเซียล่ม แล้วก็ทำให้กำลังของบางประเทศที่รุกไทยอ่อนแอลงแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือความผูกพันต่อประชาชนที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยพูดมา 3 ครั้งแล้ว ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยไม่ตกเป็นทฤษฎีโดมิโนอย่างที่ฝรั่งคาดหมายว่าจะเป็น เหตุผลเพราะว่าความผูกพันที่คนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสูงมาก ในหลวงของเรานั้นมีพระมหากรุณาธิคุณและทรงครองราชย์ยาวนาน ได้เห็นปัญหาของประชาชน โครงการทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของปวงชน เมื่อจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่เกิดขึ้นในอินโดจีนคนก็รับไม่ได้สถานการณ์ก็เปลี่ยน” นายชวน กล่าว
ดังนั้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นอกเหนือจากเงื่อนไขของความเป็นประเทศที่มีสิทธิและหน้าให้กับประชาชน ซึ่งเราต้องพยายามย้ำเรื่องของสิทธิและหน้าที่คู่กัน เราไม่สามารถอยู่ได้เพียงรู้จักสิทธิที่จะเรียกร้องอย่างเดียว โดยไม่ทำหน้าที่ และในระบอบนี้แม้การเมืองจะมีการสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่ความมั่นคงยังอยู่ได้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือสถาบันศาล ไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ หรือไม่ยึดอำนาจ ศาลยังคงสถิตย์ความเป็นธรรมอยู่ ถึงจะไม่ 100% แต่ก็เป็นหลักที่เชื่อถือได้ แต่ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดไม่พอใจก็เป็นธรรมดา แต่ขอเรียนว่าหากเราให้ศาลดำรงความเป็นกลางได้แบบนี้ตลอด ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทางการเมือง บ้านเมืองก็สามารถไปได้
นายชวน ยังย้ำว่า เรื่องของความเท่าเทียมทางกฎหมายถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีตนจึงได้ใช้คำขวัญว่า “ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยเหมือนกันหมดได้ แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมนี้น่าอยู่หรือไม่น่าอยู่
ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น
ทีมข่าวการเมือง รายงาน