เหลือเวลาไม่มาก! สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ‘ช้อปดีมีคืน’ รายได้เท่าไหร่ ได้เงินคืนคุ้มสุด?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

เหลือเวลาไม่มาก! สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ‘ช้อปดีมีคืน’ รายได้เท่าไหร่ ได้เงินคืนคุ้มสุด?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : นอกจากโครงการคนละครึ่งที่กำลังฮิตกระแสดีสุดๆ ยังมีอีกหนึ่งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ที่ตีคู่กันมาอย่างมาตรกา ช้อปดีมีคืน,กระตุ้นเศรษฐกิจ,ลดหย่อนภาษี

486 ครั้ง
|
25 พ.ย. 2563
นอกจากโครงการคนละครึ่งที่กำลังฮิตกระแสดีสุดๆ ยังมีอีกหนึ่งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ที่ตีคู่กันมาอย่างมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้ สําหรับค่าซื้อสินค้าและบริการ ตามจํานวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท
 
 
โดยสินค้าที่ใช้ลดหย่อนได้ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าและบริการทุกประเภท ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวันเรา ที่เราซื้อสินค้าและรับบริการจากร้านค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่จดทะเบียน VAT หรือร้านค้าทั่วไปที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป นอกจากนี้ยังเป็นสินค้า OTOP โดยเงินที่นำมาลดหย่อน มาจากจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
 
แต่ก็มีสินค้าบางอย่างที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ  ได้แก่
-ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
-ค่ายาสูบ
-ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
-ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
-ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
-ค่าบริการจัดนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
-ค่าที่พักในโรงแรม
นอกจากนี้ สินค้าหรือบริการบางประเภทที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% อยู่แล้ว ก็จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น
-ผัก-ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป
-เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา
-ทองคำแท่ง
-ค่ารักษาพยาบาล
-ค่าทำศัลยกรรม
 
โดยมาตรการนี้มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในเดือนมีนาคม 2564 แต่หากเราซื้อสินค้าก่อน 23 ตุลาคม จะไม่สามารถให้คนขายออกใบกำกับภาษีได้ เพราะถือเป็นการทุจริต
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับสิทธิ ต้องไม่เคยได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง โดยเราจะเลือกใช้ทั้ง 2 โครงการไม่ได้ ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดีว่า เลือกแบบไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน เพราะในการลดหย่อนภาษี จะแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล 
 
 
ทั้งนี้ อัตราในการลดหย่อนภาษี ไม่ใช่ว่ายิ่งช้อปเยอะยิ่งคุ้ม เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราช้อปเยอะหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไร โดยจะเป็นตามขั้นบันไดที่เรายื่นเสียภาษี เราต้องดูว่ารายได้เราอยู่ในขั้นไหน
เช่น เรามีรายได้ 5 ล้านบาท หากช้อปปิ้งเต็ม 30,000 บาท ก็จะได้ลดหย่อน 35% จะได้เงินภาษีคืนสูงสุด 10,500 บาท แต่หากเรามีรายได้ ไม่เกิน 150,000 บาทต่อไป ต่อให้ช้อปปิ้งเต็ม 30,000 บาท เราก็จะไม่ได้เงินภาษีคืนแต่อย่างใด
 
อัตราการคืนภาษีมีดังนี้
-เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี
-เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
 
 
ซึ่งเวลาเราจับจ่ายซื้อสินค้า จะต้องขอหลักฐานการจ่ายเงินทุกครั้ง นั่นคือใบกำกับภาษี จากนั้นก็รวบรวมไว้จนถึงสิ้นปี เพื่อเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี โดยต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการระบุข้อความดังนี้
- คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้าผู้ประกอบการ
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน)
- หมายเลขของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ถ้ามี) เช่น คำว่า เอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่มีผู้ซื้อสินค้าหลายคนมาหักลดหย่อนได้ และนี่คือรายละเอียดที่ควรรู้ เพื่อที่คุณจะได้ไม่เข้าใจผิดและเสียสิทธิ์ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน