มาต่อกันที่เรื่องวันหยุด ตอนนี้ก็กลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ย.แล้ว หลายคนคงจำได้ว่าก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคาะให้มีวันหยุดราชการพิเศษเพิ่ม และสลับวันหยุดชดเชย เพื่อให้ได้มีวันหยุดยาว ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. ประชาชนจะได้ออกไปท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ยังมีคนที่ยังงงๆ ว่าตกลงแล้วหยุดวันไหน หยุดกี่วัน ใครได้หยุดบ้าง ไม่ได้หยุดเหมือนกันทั้งประเทศหรือ ซึ่งรายการรอดไปด้วยกัน จะมาสรุปให้ฟังว่าตกลงแล้วยังไงกันแน่ สำหรับคนที่ยังงงอยู่
เริ่มด้วย เดือน พ.ย. นอกเหนือจากวันหยุดปกติ เสาร์-อาทิตย์ แล้ว ยังมีวันหยุดราชการพิเศษ คือวันพฤหัสบดีที่ 19 และวันศุกร์ที่ 20 ทำให้มีวันหยุดยาวติดกัน 4 วัน คือวันที่ 19-20-21-22 วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ คนที่ได้หยุดแน่ ๆ คือข้าราชการ ส่วนสถาบันการเงินไม่หยุด ทำงานปกติ และภาคเอกชนก็แล้วแต่บริษัท
ขณะที่ เดือน ธ.ค. นอกจากวันหยุดปกติ เสาร์-อาทิตย์ ยังมีวันหยุดอื่น ๆ ดังนี้
-วันจันทร์ที่ 7 ธ.ค. วันหยุดชดเชยวันพ่อแห่งชาติ ข้าราชการไม่หยุด (เลื่อนวันหยุดชดเชยไปหยุดวันศุกร์ที่ 11 แทน) / สถาบันการเงินหยุด (มีประกาศคงวันหยุดชดเชย) / บริษัทเอกชนแล้วแต่บริษัท
-วันพฤหัสบดีที่ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ ข้าราชการหยุด / บริษัทเอกชนแล้วแต่บริษัท
-วันศุกร์ที่ 11 ธ.ค. ข้าราชการหยุด (เลื่อนมาจากวันที่ 7 วันหยุดชดเชยวันพ่อแห่งชาติ) / สถาบันการเงินหยุด (วันหยุดทำการของสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษ) / บริษัทเอกชนแล้วแต่บริษัท
*สำหรับข้าราชการ จะมีวันหยุดยาวติดกัน 4 วัน คือวันที่ 10-11-12-13 วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์
-วันพฤหัสบดีที่ 31 ธ.ค. วันสิ้นปี (จะได้หยุดต่อเนื่อง 4 วัน เนื่องจาก วันศุกร์ที่ 1 ม.ค.2564 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อด้วยวันเสาร์-อาทิตย์)
ทั้งนี้ สำหรับคนที่สงสัยว่า ทำไมข้าราชการได้หยุด แต่คนที่ทำงานบริษัทเอกชนกลับต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัท ต้องเข้าใจว่า วันหยุดที่ ครม. อนุมัตินั้น เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งก็คือข้าราชการได้หยุด ส่วนภาคเอกชนจะให้หยุดหรือไม่หยุดก็ได้ แล้วแต่บริษัทนั้น ๆ
เนื่องจากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29 ระบุว่า "นายจ้างต้องกำหนดให้มีวันหยุดตามประเพณี อย่างน้อย 13 วันต่อปี" ซึ่งหากนายจ้างจัดวันหยุดตามประเพณี ให้ครบ 13 วันแล้ว แม้ว่าต่อมาทางราชการจะมีคำสั่งให้มีการหยุดราชการ นายจ้างก็จะให้หยุดตามคำสั่งนั้นหรือไม่ก็ได้
+ อ่านเพิ่มเติม