คนไทยพี่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แห่ทำบุญช่วงโควิด-19 เงินสะพัดหมื่นล้าน
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

คนไทยพี่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แห่ทำบุญช่วงโควิด-19 เงินสะพัดหมื่นล้าน

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยผลคนไทยแห่ทำบุญช่วงโควิด-19 ระบาด ทำเงินสะพัดสร้างรายได้หมุนเวียนในระบ รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน,ทิน โชคกมลกิจ,รอดไปด้วยกัน,ข่าวเศรษฐกิจ,ทำบุญ,โควิด,เงินสะพัด

1,218 ครั้ง
|
10 พ.ย. 2563
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยผลคนไทยแห่ทำบุญช่วงโควิด-19 ระบาด ทำเงินสะพัดสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบ 10,800 ล้านบาท/ปี! หรือ 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทยในปี 2562 จนต้องชี้ช่องให้ประชาชนต่อยอดธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว
 
โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.สำรวจพฤติกรรมและความเห็นของ ผู้บริโภคทั่วประเทศ 7,904 คน เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงและใช้จ่ายในเรื่องใดโดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโควิด-19
 
สำหรับวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต 42.42% ขอโชคลาภ/เงินทอง 29.64% ขอเรื่องการงาน-ธุรกิจ 10.95% จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
 
สำหรับผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 44.72% มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100-200 บาท รองลงมา คือน้อยกว่า 100 บาท 24.57% ดังนั้นประชาชนกว่า 70% ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน/นักศึกษา
 
ค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ โดยส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึง 47.58% รองลงมา คือการถวายสังฆทาน 39.46%
  
นอกจากนั้น พบว่ากิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูชะตาราศี เช่น วัน เดือน ปีเกิด 54.13% ดูลายมือ 20.94% และดูไพ่ยิปซี 12.23%
 
เหตุผลที่ สนค. มีการลงไปสำรวจในเรื่องนี้ เพราะ ความเชื่อและศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย  โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาหรือเครียด คนไทยก็มักจะหันหน้าเข้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพรและโชคลาภ ดังที่เราเห็นข่าวเรื่องการบนขอหวยและการแก้บนเพิ่มขึ้นมาก
 
สนค. ประมาณการณ์ว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทยในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ มีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว
  
รวมทั้งช่วยการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Zu2wZVVga2M