โดยสภาพัฒน์ เปิดตัวเลข คนจนลดลงต่อเนื่อง ในรอบ 20 ปี ลดลงไปมากกว่า 20 ล้านคน และในปี 2562 คนจนลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนหนาแน่นสูงที่สุดคือ จ.ปัตตานี ขณะที่เรื่องความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ และปี 2563 พิษโควิด-19 อาจทำให้สถานการณ์ความยากจนกลับไปแย่ลง
ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% หรือ 6.7 ล้านคน ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% หรือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
และถ้าพิจารณาแนวโน้มของความยากจนในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน คนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 25.8 ล้านคน ในปี 2543 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 หรือลดลงไปรวม 21.5 ล้านคน
ทั้งนี้ จำนวนคนจนที่กล่าวข้างต้น วัดจากความยากจนด้านตัวเงิน โดยคนที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน จะถือว่าเป็นคนจน ซึ่งในปี 2562 เส้นความยากจนมีมูลค่า 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน (เส้นความยากจน สะท้อนค่าใช้จ่ายมาตรฐานขั้นต่ำที่คนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม)
อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน เป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากรายงานที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ได้แก่
-ปี 2562 ภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด เรียงตามลำดับ คือ ภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, ภาคกลาง และ กรุงเทพมหานคร โดยสถานการณ์ความยากจนในภาคใต้ พบว่าครัวเรือนยากจนกว่า 40% อยู่ในภาคการเกษตร
-ปี 2562 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด หรือมีความยากจนหนาแน่นสูง ลำดับที่ 1 คือ ปัตตานี รองลงมาได้แก่ นราธิวาส, แม่ฮ่องสอน, ตาก, กาฬสินธ์, สระแก้ว, พัทลุง, ชัยนาท, อ่างทอง และ ระนอง
-ปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, ภูเก็ต, สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร โดยพบว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หรือมีพื้นที่ติดกับศูนย์กลางความเจริญ