เป็นที่จับตาอย่างมากสำหรับงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2561 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ต.ค.2563 นี้ ถึงจำนวนผู้ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
เนื่องจากมีรายงานจากสำนักข่าวอิศรา ว่า จากจำนวนผู้เข้ารับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2563 มีทั้งหมด 7,756 คน โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าซ้อมย่อย 3,280 คน คิดเป็น 42.29% ขณะที่วันซ้อมรวม เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2563 มีจำนวน 3,763 คน คิดเป็น 48.52%
โดย นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า ทุกปีจะมีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่ครบตามจำนวน โดยจะแสดงตนเข้ารับประมาณ 60-70% แต่ในปีนี้ยอมรับว่าลดลง ตัวเลขที่แน่นอนยังไม่ทราบ ต้องไปดูวันจริง อาจมีผู้เข้ารับประมาณ 50-60%
ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่ลดลง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มองว่า มาจาก 4 สาเหตุ ได้แก่
1. สถานการณ์การเมืองอาจเชื่อมโยง มีการรณรงค์ให้บัณฑิตไม่รับปริญญาบัตร
2. สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีมาตรการคัดกรอง ทั้งกักตัว 14 วัน และตรวจเลือด ซึ่งมีบางคนไม่สะดวก (ธรรมศาสตร์ บัณฑิตต้องตรวจสุขภาพ Rapid test เจาะเลือดปลายนิ้ว ก่อนเข้าหอประชุม)
3. จากที่ระยะเวลาการรับปริญญาจะรับหลังจบการศึกษาแล้วไม่กี่เดือน แต่ปีนี้ห่างจากวันจบ 14 เดือน บัณฑิตจำนวนมากทำงานแล้ว ไม่สะดวกลางาน หรือบางส่วนไปต่างประเทศ
4. มหาวิทยาลัยประกาศกระชั้นชิด แจ้งบัณฑิตให้ทราบต้นเดือน ต.ค. และกำหนดรับปลายเดือน ต.ค. บางคนอาจเตรียมตัวไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ในปีนี้มีคนไม่รับปริญญามากขึ้น อาจมาจากปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรับปริญญานั้นไม่ใช้น้อยๆ เลย รายการรอดไปด้วยกัน วันนี้จะมากางรายจ่ายสำหรับการรับปริญญากัน ว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่? (แต่ละมหาวิทยาลัยไม่เท่ากัน)
1. ค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต : ประมาณ 1,000 - 3,000 บาท (ยกตัวอย่างเช่น ธรรมศาสตร์ 1,000 บาท / ม.ขอนแก่น 2,000 บาท / ม.กรุงเทพ 3,000 บาท)
2. ค่าชุดครุย : มีทั้งแบบ เช่า ตัดเช่า และ ตัดซื้อ ประมาณ 500 - 2,500 บาท (ยังไม่รวมค่าประกันชุดครุยสำหรับการเช่า ที่ต้องจ่ายและจะได้คืนเมื่อคืนชุดครุย)
3. ค่าชุดสูท / ชุดราชปะแตน / ชุดปกติขาว : สำหรับผู้ชายที่ต้องใส่ชุดสูท ชุดราชปะแตน ก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม และสำหรับกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษารับราชการ ก็ต้องใส่ชุดปกติขาว ซึ่งมีทั้งแบบ เช่า ตัดเช่า และ ตัดซื้อ ประมาณ 500 - 4,000 บาท (ยังไม่รวมค่าประกันชุดสำหรับการเช่า ที่ต้องจ่ายและจะได้คืนเมื่อคืนชุด)
4. ค่ารองเท้าคัทชู : มีตั้งแต่ราคา 500 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท
5. ค่ารูปถ่ายรับปริญญา : เป็นรูปเดี่ยวขณะรับปริญญา และรูปหมู่ที่ถ่ายกับเพื่อน-อาจารย์ในคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีให้เลือกเป็นแพคเกจ แตกต่างกันที่ขนาดภาพ ชนิดของภาพ จำนวนภาพ กรอบรูป เป็นต้น ราคาประมาณ 500 - 4,000 บาท
6. ค่าแต่งหน้า ทำผม : โดยเฉพาะผู้หญิง ถ้าจ้างช่าง ก็ประมาณ 500 - 3,000 บาท ต่อวัน ขึ้นอยู่กับฝีมือและความนิยมของช่าง
7. ค่าช่างภาพ : สำหรับเก็บภาพนอกรอบกับเพื่อน ครอบครัว มีทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน ประมาณ 1,500 - 4,500 บาท เรทแตกต่างกันตามฝีมือและความนิยมเช่นเดียวกัน
8. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ :
-ค่าเดินทาง
-ค่าที่พัก สำหรับคนที่ไม่ได้มีที่พักอยู่ใกล้สถานที่ซ้อมรับปริญญา หรือรับปริญญา
-ค่าใส่ซองให้รุ่นน้องที่มาบูม บางมหาวิทยาลัยจะมีรุ่นน้องมาล้อมวงบูมแสดงความยินดีให้ และรุ่นพี่ต้องใส่ซองให้เป็นเงินเข้าคณะ หรือไว้จัดกิจกรรมต่างๆ
-ค่าอาหาร
-ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคนที่ได้เกียรตินิยม เช่น ม.หอการค้าไทย มีค่าแถบเกียรตินิยม 600 บาท
-ค่าสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าฯ สำหรับบางมหาวิทยาลัย เช่น ม.กรุงเทพ มีค่าสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าฯ 1,000 บาท
ฯลฯ
เมื่อมาคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยแล้ว รับปริญญาครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเกิน 10,000 บาท แน่นอน แต่ถ้าเซฟสุดๆ แบบสุดมากๆ ตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่สามารถตัดได้ออกไป เช่น แต่งหน้าทำผมเอง ไม่จ้างช่างภาพถ่ายรูปนอกรอบ ก็อาจลดค่าใช้จ่ายลงมาได้เหลือประมาณ 7,000 - 8,000 บาท
ชมผ่านยูทูบได้ที่นี่ : https://youtu.be/TeOfT1QcOMo