ขอเอาใจเหล่านักชิมสายกินกันบ้าง กับอาหารพื้นบ้านที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่าง น้ำปู หรือ น้ำปู๋ เครื่องปรุงชั้นเลิศของดีพื้นบ้านชาวล้านนา ถึงขนาดที่ว่าอาหารเหนือถ้าไม่ใส่น้ำปูก็คงจะไม่ใช่อาหารเหนือแท้ๆ อย่างแน่นอน อยากรู้แล้วใช่ไหมว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ นี่คืออะไร เราไปชมพร้อมๆ กันเลย
ช่วงเดือนส.ค. – ต.ค. ของทุกปี ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หลายหมู่บ้าน จะรวมตัวกันทำน้ำปู เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปูนาชุกชุม แถมปูนาก็มีขนาดใหญ่เจริญวัยเต็มที่ โดยชาวบ้านจะทำไว้เพื่อรับประทานในครอบครัวและนำออกจำหน่ายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
โดยนางหอม ใจมิภักดิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บ้านสันสลี หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ประธานกลุ่มน้ำปูสันสลี กล่าวว่า ได้ทำน้ำปู มานานกว่า 40 ปีแล้ว ถึงแม้ในช่วงนี้จะมีกระแสการปนเปื้อนของสารเคมี แต่กลุ่มผู้ผลิตน้ำปูที่นี่ก็มีความมั่นใจว่าน้ำปูจะปลอดภัยอย่างแน่นอน เนื่องจากแหล่งที่มาของปูจะอยู่ในพื้นที่เกษตรกรปลอดสารเคมี
สำหรับ การทำน้ำปู เมื่อได้ปูนามาแล้วก็จะนำอามาขังและแช่น้ำไว้สักหนึ่งคืนเพื่อให้สิ่งสกปรกดิน โคลนหลุดออกจากตัวปู จากนั้นก็จะนำปูมาล้างให้สะอาด เตรียมใบตระไคร้ ใบขมิ้น นำมาบดพร้อมกับปูเป็นๆ เลย เพื่อเอาน้ำปูออกให้มากที่สุด แล้วนำน้ำปูที่คั้นได้ดองไว้ประมาณ 1-2 คืน เพื่อให้เกิดกลิ่น แล้วนำไปเคี่ยว ซึ่งการเคี่ยวต้องใช้ไฟแรง และค่อยๆ เอาฟืนออกให้ไฟอ่อนลง เมื่อเคี่ยวจนน้ำปูแห้งแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ก่อนเติมเกลือเล็กน้อย น้ำปูแห้งจะจับกันเป็นก้อนสีดำ พักไว้ให้เย็นสามารถนำไปบรรจุภาชนะ
โดยจะจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งตัวปูเป็นๆจำนวน 100 กิโลกรัม จะสามารถเคี่ยวเป็นน้ำปูได้จำนวน 20 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละรายนั้นสามารถผลิตน้ำปูได้เฉลี่ยแล้วกว่า 20 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับการจำหน่ายนั้นจะมีคนมาสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และสามารถขายได้เป็นอย่างดี สร้างรายได้ในช่วงนี้ได้อย่างงาม
อย่างไรก็ตาม น้ำปู หรือน้ำปู๋ สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริก แกงหน่อไม้ ตำแตงและตำหลากหลาย หากว่าคุณได้ลิ้มลองจะต้องติดใจอย่างแน่นอน.
+ อ่านเพิ่มเติม