เปิดผลศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ พบปัญหาอื้อ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา
logo TERO HOT SCOOP

เปิดผลศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ พบปัญหาอื้อ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา

1,312 ครั้ง
|
10 ก.ย. 2563

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (10 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณารายงานการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการชุดที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่สภาฯตั้งขึ้นร่วมกัน ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยใช้เวลาถึง 8 เดือนในการศึกษา

 

 

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า กรรมาธิการเห็นว่าหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวกับ"สถาบันพระมหากษัตริย์" ไม่มีอะไรต้องแก้ไข แต่ในหมวดอื่นๆมีผลการศึกษาดังนี้

 

  • หมวดที่ 3 "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" เห็นว่ามีหลายมาตรามากที่จำเป็นจะต้องแก้ไขใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 25 ถึงมาตรา 49 ซึ่งการแก้ไขจะยึดรัฐธรรมนูญฉบับในอดีตเป็นฐาน โดยเฉพาะฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 เพราะมีการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพไว้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ซึ่งบางมาตราในปัจจุบันบัญญัติไว้กว้างสามารถตีความให้สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

 

  • หมวดที่ 4 "หน้าที่ของปวงชนชาวไทย" กรรมาธิการเห็นว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่าเรื่องใดควรเป็นหน้าที่และเรื่องใดควรเป็นสิทธิ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องของสิทธิมากกว่าหน้าที่

 

  • หมวดที่ 5 "หน้าที่ของรัฐ" ที่ควรกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ไม่ได้กำหนดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้ได้มากยิ่งขึ้น

 

  • หมวดที่ 6 "แนวนโยบายแห่งรัฐ" เห็นว่าควรปรับปรุงให้เรื่องนโยบายเป็นอิสระของคณะรัฐมนตรี โดยไม่ควรบัญญัติให้บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ และควรปรับลดระยะเวลาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีลง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมากขึ้น และที่สำคัญต้องกำหนดให้ชัดเจนว่านโยบายแห่งรัฐจะต้องไม่เอื้อประโยชน์หรือเกิดการผูกขาดกับกลุ่มทุน

 

  • หมวดที่ 7 รัฐสภากรรมาธิการเห็นว่าควรกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบ 2 ระบบ คือ ระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนในอดีต และยกเลิกการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง / ส่วนวุฒิสภา ให้กลับมามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนเดิม และสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนที่มาของ ส.ว.ให้กำหนดวิธีการเลือกกันเองให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

  • หมวดที่ 8 "คณะรัฐมนตรี" กรรมาธิการเห็นตรงกันว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องไม่เป็น ส.ส.ในเวลาเดียวกัน และกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อให้ชัดเจน

 

  • หมวดที่ 9 "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" กรณีห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นในบริษัทสัมปทานของรัฐนั้น กรรมาธิการเห็นว่าไม่ควรรวมถึงการถือหุ้นในลักษณะที่เป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และไม่ใช่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่จะไปมีสิทธิในการบริหารองค์กรได้

 

  • หมวดที่ 10 "ศาล" กรรมาธิการเห็นว่าควรให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษา ตุลาการในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะในคดีที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชน ที่คำพิพากษาอาจถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกได้ ควรให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาได้ และผู้พิพากษาหรือข้าราชการในศาลยุติธรรมเองก็ไม่ควรมีตำแหน่งในหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐ และไม่ควรไปเข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆที่เป็นการเปิดโอกาสสร้างคอนเนคชั่นจนกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ / ส่วนศาลทหารให้เป็นศาลที่พิจารณาเฉพาะคดีของทหารเท่านั้น

 

  • หมวดที่ 11 "ศาลรัฐธรรมนูญ" กรรมาธิการเห็นว่า ควรกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้รัฐสภามีอำนาจถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

  • หมวดที่ 12 "องค์กรอิสระ" กรรมาธิการเห็นว่าควรกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของกรรมการในองค์กรอิสระและให้องค์กรอิสระสามารถถูกตรวจสอบโดยศาลได้รวมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทในการตรวจสอบองค์กรอิสระ และให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยของ กกต.ได้ เพราะกกต.ไม่ควรมีอำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเอง แต่ควรเป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งแทน / ส่วน ป.ป.ช.ควรกำหนดให้การชี้มูลควรผิดต้องเป็นกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างแน่ชัด ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดไม่ใช่ชี้มูลเพียงเพราะ“เชื่อได้ว่า” ทั้งที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ

 

  • หมวดที่ 13 "องค์กรอัยการ" กรรมาธิการเห็นว่าควรมีกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของอัยการ และห้ามมอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจสั่งคดี อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในคดี "บอส อยู่วิทยา" และควรห้ามอัยการไม่ให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นของรัฐ หรือไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้บริษัทต่างๆ

 

 

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวถึง หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ว่ากรรมาธิการเห็นด้วยให้ยกเลิกการให้ ส.ว.ร่วมเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียง 1 ใน 3 และให้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมร่วมรัฐสภาแทน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 และให้ยกเลิกเงื่อนไขที่ต้องมีเสียงเห็นชอบจากพรรคซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ประธานสภา ร้อยละ 20

รวมทั้ง

 

ให้ยกเลิกการทำประชามติในหมวดที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทางการเมือง หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ และยังให้ตัดหมวดการปฏิรูปประเทศออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า จึงควรไปบัญญัติในกฎหมายลำดับรองแทน เพราะจนถึงขณะนี้การปฏิรูปยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากติดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ / ส่วนเนื้อหาในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการเห็นควรให้แก้ 2 แนวทาง คือ

 

- ให้ยกเลิก ส.ว.ที่มาตามบทเฉพาะกาล และให้มีวุฒิสภามาตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญแทน

 

- หรือให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ แต่ตัดอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

ส่วนอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 ที่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการมีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ

 

- ให้ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกทั้งหมดเพื่อให้เป็นอำนาจ ส.ส.เพียงสภาเดียวในการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

- หรือไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 272 เพราะมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่บังคับไว้เพียงชั่วคราวและได้ใช้บังคับในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

 

นอกจากนี้กรรมาธิการยังเห็นชอบว่า ควรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนการแก้ไขรายมาตรา โดยให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ในการยกร่าง ยกเว้นการร่างหมวด 1 และหมวด 2 และให้จัดทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

 

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย โดย ส.ส.พรรคก้าวไกลส่วนใหญ่ใม่เห็นด้วยที่กรรมาธิการมีแนวทางไม่แก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม พรรคก้าวไกล ได้อภิปราย ว่ารายงานฉบับนี้หนามาก แต่ไม่มีส่วนไหนที่กล่าวถึงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีถึง 24 มาตรา  และในกรรมาธิการไม่มีประเด็นใดที่จะพิจารณาศึกษา ซึ่งในรายงานชวเลขแยกรายบุคคลขึ้นต้นมาก็เป็นหมวดที่3  ทั้งที่การพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด1และหมวด2 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

 

 

“ดิฉันจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต้องการเห็นสถาบันคงอยู่อย่างมั่นคงและสง่างาม ในอดีตที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด1และหมวด2อยู่หลายครั้ง ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติและสามารถแก้ไขได้ตราบเท่าที่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ตามมาตรา 255” นางสาวสุทธวรรณ กล่าว

 

 

 

ด้านนายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ขอทำความเข้าใจประเด็นหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ซึ่งสมาชิกอภิปราย 2 อย่าง ประการแรกบอกว่าแก้ไขได้ ไม่ได้เถียงเลย ทางกมธ.ฯก็ไม่ได้บอกว่าแก้ไขไม่ได้ ประการที่สอง คือว่าแล้วจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ทางกมธ.ฯเห็นว่า ไม่มีอะไรต้องแก้ไข การพิจารณาของกมธ.ฯเราได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม โดยทุกอย่างที่ตนพูดมีหลักฐานเป็นบันทึกชวเลขซึ่งอยู่ในรายงานฉบับนี้ด้วย ถ้าหากว่ามีการพูดกันเรื่องนี้ว่าจะต้องศึกษาจะอยู่ในบันทึกชวเลข กรณีหมวด  1 และหมวด 2 ทางกมธ.ฯไม่มีการพูดเลย ซึ่งกมธ.ฯ เห็นว่าบทบัญญัติที่เขียนไว้ในปัจจุบันไม่มีประเด็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ แต่รูปแบบและถ้อยคำต่างๆไม่มีประเด็นต้องแก้ไข จึงไม่มีผลการศึกษา ดังนั้น ต้องขอทำความเข้าใจตรงส่วนนี้

 

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง