"ดร.สิริพรรณ" แนะ ส.ส. จับมือกัน ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญ
logo TERO HOT SCOOP

"ดร.สิริพรรณ" แนะ ส.ส. จับมือกัน ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญ

839 ครั้ง
|
10 ก.ย. 2563

การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังถกเถียง ระหว่างฝ่ายค้านด้วยกันเอง ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง และ ฝ่าย สว.ด้วยกันเอง ดูเหมือนกำลังสับสนในทางการเมือง ประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงมากกลับเป็นเรื่องการตัดอำนาจ สว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ไม่ให้ สว. มาร่วมโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี" เพราะถูกมองว่าเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"

"รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" หัวหน้าภาควิชาการ ปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ปัญหาสำคัญ ไม่ได้อยู่แค่ ม.272 มาตราเดียวที่กำลังถกเถียงกัน  เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ "ป้องกันการอุดตันทางการเมือง" ไม่ใช่แก้เพียงเพื่อ "เป็นสัญลักษณ์ว่าได้สู้" จริงๆแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ไว้ 2 จุด

 

จุดแรก คือ มาตรา 272 วรรค 2 ในกรณีไม่มีผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองคนใดได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จึงให้ปลดล็อค ด้วยเสียงกึ่งหนึ่ง และโหวตเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 คือ 500 เสียง  ถ้ามองดุลอำนาจทางการเมืองในสภาตอนนี้ การจะได้นายกรัฐมนตรีคนนอกรายชื่อที่เสนอโดยพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีประมาณ 270+ (+ส.ส.ฝากเลี้ยงตามคำเล่าลือ ซึ่งมีอยู่จริง) และ สว. 250 คน ก็โหวตชนะแล้ว

 

จุดที่สอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองข้าม คือ การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 หลังเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้รัฐสภามีตัวเลือก 7 คน จากพรรคที่ได้ส.ส.อย่างน้อย 25 คน คือ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่

และพรรคเพื่อไทย 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

 

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ขณะนี้จะมีเพียง 6 ตัวเลือกนี้เท่านั้น ไม่นับนายธนาธร เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว  และโดยหลักการแล้ว "พลเอกประยุทธ์" ถือว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” เพราะไม่ได้ เป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราไม่สามารถอนุมานได้ว่า คนเลือกพลังประชารัฐทั้งหมดคือคนที่ต้องการให้ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

 

นี่คือความหมายพื้นฐานของการไม่มีความยึดโยงกับประชาชน การมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ยังเป็นบ่อเกิดของคณะรัฐมนตรีที่ขาดประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีฐานเสียงในพรรคการเมือง ไม่สามารถคุมเกมส์การเมืองในพรรค จน รมต.คลังที่ตัวเองเลือกมาด้วยโควต้าส่วนตัว ต้องลาออกไปในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

 

ดร.สิริพรรณ ระบุว่า การชูประเด็นแก้มาตรา 272 เพื่อปลดอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ในขณะนี้ มีข้อดีเพื่อตอกย้ำว่าการให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ได้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรม และไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป แต่ในท่วงทำนองทางการเมืองปัจจุบันการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 272 เพียงมาตราเดียวเพียงพอหรือไม่ และจะ "รอ" ให้มี ส.ส.ร.อีกประมาณ 2 ปี ไหวไหม

ขณะนี้ พรรคร่วมรัฐบาลมี 270 เสียง++ หากยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือ นายกรัฐมนตรีลาออก เอาเฉพาะเสียง ส.ส. ในสภา ก็ได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือ คนที่เครือข่ายอำนาจเดิมเห็นชอบอยู่ดี โดยไม่ต้องอาศัยเสียง สว. 250 คน

 

บางท่านอาจเถียงว่า พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะก้าวไกลจะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นได้ แต่ฝ่ายค้านที่เห็น ๆ กันอยู่ในปัจจุบันรวมกันอย่างไร ก็ยากที่จะได้เกิน 250 เสียง เมื่อพิจารณาระบบและกติกาเลือกตั้ง ร่วมกับกลไกอำนาจรัฐ และงบประมาณที่พลังประชารัฐถือครอง การแก้มาตรา 272 ว่าด้วยวุฒิสภาอย่างเดียว จะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์บางเบาของการต่อสู้ ที่ไม่ช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากทางตันทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น

 

รื้อระบบเลือกตั้งผ่าทางตันทางการเมือง

การแก้รัฐธรรมนูญที่จะช่วยเปิดช่องทางออกจากปัญหาก่อนจะมีการยุบสภา หรือ ความพลิกผันทางการเมืองใด ๆ คือ แก้ระบบเลือกตั้ง มาตรา 83-94 แก้ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. มาตรา 159 และแก้ มาตรา 272 ปลดอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้แก้ได้โดยไม่ต้องทำประชามติ จึงสามารถทำได้โดยเร็วหากมีฉันทามติในประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน หรือมีแรงกดดันจากสังคมมากพอ

ส่วนการแก้มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ จะโดยให้มี ส.ส.ร. หรือด้วยกระบวนการอื่น ก็ควรทำควบคู่กันไป เพราะเมื่อเข้าสู่การพิจารณาแล้ว ต้องทำประชามติก่อนจะขับเคลื่อนการสรรหา ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายลูก ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 2 ปีแต่ก็ต้องทำ และเร่งทำเพื่อให้การรับหลักการวาระ 1 ทันก่อนปิดประชุมสภาในวันที่ 25 กันยายน และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤศจิกายน

 

ดร.สิริพรรณ ยังมองว่า บรรยากาศของการถกเถียง ทะเลาะกันบ้าง แซะกันบ้าง นั้นเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย และช่วยให้เกิด “ห้วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญ” ที่สาธารณชนสนใจติดตาม ทำความเข้าใจ ออกความเห็น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ เมื่อแต่ถึงคราวลงมติ ขอให้ลืมความบาดหมางชั่วขณะ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือประมาณ 375 เสียง  สมมุติว่าได้ สว.มาเพียง 84 เสียง ตามขั้นต่ำของ สว. 1 ใน 3 ก็ยังต้องการเสียง ส.ส. อีก 291 คน

 

ดังนั้นจะขาดฝ่ายค้านซึ่งมีอยู่ร่วมกัน 212 เสียง พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ และยังต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้อีก เกือบ 80 คน ถ้าไม่ร่วมมือกัน การแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ จะไม่มีทางสำเร็จ

 

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

รายงาน