วันที่ 9 กันยายน 2563 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางการเมือง โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
ฝ่ายค้านนำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย โดยได้มีการกล่าวว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลทำให้ประเทศจมกองหนี้ คนส่วนใหญ่เดือดร้อน มีปัญหาเศรษฐกิจ โดยหลายปัญหาเกินเยียวยา ตนมีข้อเสนอสุดท้ายต่อรัฐบาลถึงนายกฯ ว่า หากต้องการช่วยเหลือประเทศไทยอย่างแท้จริง คือ การลาออก ตามเสียงเรียกร้องของคนไทยทั้งประเทศ
ทั้งยังมีการ ชู 3 นิ้ว กลางสภา ให้เป็นคำมั่นสัญญาและปฏิญาณตนต่อหน้าคนไทยทั้งประเทศ ว่า "เราจะขอคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาให้กับประชาชน เราจะใช้รัฐสภาแห่งนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของประชาชน เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐท่านต้องยุติความรุนแรง ยุติการคุกคาม ยุติการออกหมายเรียก แล้วก็เราจะต้องยุติรัฐธรรมนูญเผด็จการ เรากลับสู่การตั้ง ส.ส.ร.แล้วก็คืนอำนาจให้กับประชาชน"
ตามมาด้วย นายวัน มูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ อภิปรายทิ้งทวนก่อนลาออกจากการเป็น ส.ส.ในวันที่ 11 กันยายนนี้ โดยระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมมองว่า การทำหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก แต่ทำหน้าที่มา 6 ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้น
ดังนั้นการอภิปรายทั่วไปที่เป็นการให้ข้อเสนอแนะรัฐบาล จะช่วยให้พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจเสียสละลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้คนมีความสามารถเข้ามาทำงานแทน
นายวัน ยังแนะนำวิธีการลงจากอำนาจโดยยกตัวอย่างแนวทางที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี คือการฟังเสียงประชาชน ที่ต้องการให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แล้วลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม หรือจะเลือกแบบ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยอมลงจากอำนาจให้คนอื่นเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น
นอกจากนี้นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากจะฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าสู่อำนาจ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่กู้เงินมากที่สุดแล้ว ยังใช้งบประมาณไปแล้วถึง 20 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นนโยบายเอื้อหรืออุ้มเจ้าสัว ซึ่งหากตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี จะยอมพิมพ์แบงก์แจกให้ประชาชน ยอมเงินเฟ้อหน่อยไม่เป็นไร แต่อย่าพิมพ์แบงก์ไปซื้อเรือดำน้ำ และต้องอัดฉีดเงินให้กองทุนหมู่บ้าน สร้างงาน สร้าง SME แต่ไม่ควรแจกและใช้ผ่าน อี-วอลเล็ต เพราะจะเอื้อให้แต่กลุ่มร้านเจ้าสัว พร้อมเสนอแนะให้คุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดยกเลิกเครดิตบูโร และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บยส. ควรปล่อยกู้ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงควรทวงค่าโง่โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่เสียไปก่อนหน้านี้ หลังจากศาลตัดสินแล้วว่าไม่ต้องจ่ายเงิน
ในช่วงท้าย นายศรัณย์วุฒิ ยังอภิปรายชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมเอื้อเจ้าสัว เปิดโปงการปล้นขุมทรัพย์มูลค่า 10 ล้านล้านบาท โดยกล่าวหาว่า มีแก๊งผูกขาดพลังงานชาติ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าแก๊ง ร่วมกับเจ้าสัวชื่อย่อ ส., นายพลชื่อย่อ น. เป็นผู้ประสานงาน, นาย พ. ที่เคยติดคดี ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีเองได้ , และนาย ศ. ลูกพี่เก่านาย พ. ร่วมกันผูกขาดพลังงานรวมถึง 10 ล้านล้านบาท ทั้งโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์, ฮั้วประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมาบตาพุต เฟส 3, สัมปทานโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องประมูล, เอื้อใช้ท่อก๊าซ PTT รวมถึงเกี่ยวข้องกับปัญหาตั้งอธิบดีสรรพสามิตด้วย พร้อมสรุปว่า ผู้นำแบบนี้ ทำเศรษฐกิจไทยพังยับเยิน พร้อมตะโกนว่า เผด็จการประยุทธ์ออกไป ออกไป ออกไป คนไทยไม่เอานายกฯ คนนี้แล้ว
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ก็ได้กล่าวในที่ประชุมถึงกรณีความแน่ชัด ของบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยังไม่ได้ข้อมูลสรุป ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
พลเอก ประยุทธ์ ยังชี้แจงถึงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ โดยเฉพาะความสำเร็จของประชาชนคนไทยทุกภาคส่วนที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อยู่ภายใต้การควบคุม เป็นเวลา 101 วัน ที่ไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ โดยผู้ติดเชื้อใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ จนกระทั่งวันนี้เหลือผู้ติดเชื้อรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาลประมาณ 100 คน ซึ่งรองรับได้แน่นอน ส่วนการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การปิดน่านฟ้า ปิดสนามบิน ปิดสถานประกอบการจำนวนมาก ซึ่งก็ได้ออกมาตรการลดผลกระทบ แบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ใช้งบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เยียวยาประชาชน 31.4 ล้านคน ให้ครบทุกกลุ่ม ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน แรงงาน สถานประกอบการ เลื่อนเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดระยะเวลาสมทบเงินประกันสังคม ลดค่าธรรมเนียมการธุรกรรมต่างๆ ลดภาระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ลดระยะเวลาชำระหนี้ การให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งพยายามหามาตรการให้คนที่ไม่มีบัญชีธุรกรรม เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วย แต่ก็ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกแล้วว่า มีแผนงานจ้างงานกว่า 1 แสนอัตรา ในระยะแรก และช่วยเหลือเด็ก นักเรียน เยาวชนกว่า 8 แสนคน เพื่อไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา และพยายามเร่งรัดมาตรการหลายอย่าง เช่น รัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างร่วมกับบริษัทเอกชนในการจ้างงาน จ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้าง จ้างงานนิสิตนักศึกษาที่ประสบความเดือดร้อนทั้งระดับปริญญาตรี ปวส. และปวช. 2.6 แสนคน ระยะเวลาการจ้างงาน 1 ปี
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้บังคับใช้จนเกิดปัญหา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน แต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตร ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น คนว่างงานลดลง แต่ยอมรับว่า มีการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ ลดลงร้อยละ 7.5