มาต่อกันที่เรื่องราวเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา กยศ. ที่มีเหตุการณ์คนกู้เบี้ยวหนี้ ทำคนช่วยค้ำน้ำตาตก ต้องใช้หนี้แทน บางคนสุดช้ำถูกยึดบ้าน ที่ดิน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และที่เห็นบนหน้าข่าวบ่อยๆ คือครูใจดีที่เห็นแก่อนาคตของศิษย์ ช่วยเซ็นค้ำให้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการทำคุณบูชาโทษ
อย่างล่าสุดมีกรณี นางวันดี จินา อดีตครูวัย 77 ปี ที่กำลังจะถูกยึดบ้าน และต้องปลูกผักไปขาย หาเงินจ่ายหนี้ กยศ. จำนวนกว่า 170,000 บาท แทนลูกศิษย์ หลังนายศราวุฒิ อายุ 40 ปี ลูกศิษย์ เบี้ยวไม่ยอมจ่าย ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้มีฐานะดี ประกอบอาชีพร้านอาหาร
โดยอดีตครูท่านนี้ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2540 นโยบายเงินกู้เงิน กยศ. เพิ่งเริ่มดำเนินการใหม่ ๆ นายศราวุฒิ เรียนในระดับมัธยมปลาย ต้องการกู้เงินแค่ 8,000 บาทเศษ ตนเห็นแก่อนาคตของลูกศิษย์จึงเซ็นค้ำประกันเงินกู้จำนวนดังกล่าวให้ จนกระทั่งตนเกษียณอายุราชการมาหลายปี ทาง กยศ. ได้ส่งเอกสารทวงหนี้มาถึงตน เพราะนายศราวุฒิ ในฐานะผู้กู้ ไม่ได้จ่ายหนี้เลย
แต่ที่สำคัญคือตนเซ็นค้ำประกันให้แค่ 8,000 บาท ในช่วงเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แต่นายศราวุฒิ กลับนำหลักฐานเดิมไปกู้เงิน กยศ.ต่อเนื่อง ในการเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนมียอดเงินต้นกว่า 80,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ายอดเงินกู้เป็นเงินต้นสูงถึง 86,490 บาท ดอกเบี้ย 12,574.98 บาท เบี้ยปรับ 75,058.03 บาท รวมยอดหนี้ทั้งสิ้น 174,123.01 บาท
เมื่อตนไปทวงถามกับพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ก็ยืนยันว่าเขาพร้อมรับผิดชอบเองทั้งหมด คุณครูไม่ต้องเป็นห่วง หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยตนได้พาพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ไปพบเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนคิดว่าพ้นภาระการรับผิดชอบจากตนไปแล้ว
แต่อยู่มาเมื่อเดือน พ.ย. 2561 ตนได้รับหนังสือจากสำนักงานบังคับคดีนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ว่าบัดนี้ได้ยึดบ้านและที่ดิน ที่ตนและสามีอยู่อาศัย ตนจึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินที่ถูกยึดทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าหนี้สินที่ตนค้ำประกัน และขอไกล่เกลี่ยผ่อนจ่ายมีกำหนด 24 เดือน
โดยหากตนไม่จ่ายให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด ภายในเดือน พ.ย. 2563 ก็จะถูกยึดบ้านและที่ดิน นำไปขายทอดตลาด ซึ่งตนเป็นข้าราชการเกษียณมีเงินบำนาญเดือนละไม่ถึง 20,000 บาท และมีหนี้สินส่วนตัว จึงต้องเก็บหอมรอมริบจากเงินเดือน ปลูกผักไปขายตามตลาดนัด บางครั้งต้องยืมเงินคนอื่น นำไปจ่ายหนี้ กยศ.ของลูกศิษย์ ทุกเดือน
จนระยะหลังตนมีอายุมากขึ้น ปลูกผักไม่ค่อยไหว จึงไม่มีเงินไปจ่ายค่างวดหนี้ กยศ. โดยในขณะนี้เหลือยอดที่ต้องจ่ายอีกกว่า 70,000 บาท ในขณะที่มีระยะเวลาเหลืออีกไม่ถึง 2 เดือน ซึ่งตนได้ไปวิงวอนขอร้องนายศราวุฒิ ซึ่งมีลูกเมียอยู่ในตลาด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มีธุรกิจเปิดร้านอาหาร มีฐานะดี รวมทั้งพ่อแม่ก็ค้าขายมีรายได้เช่นกัน ให้จ่ายหนี้ กยศ. แต่ทั้งหมดกลับเมินเฉย ไม่สนใจใยดี และยังพูดจาไม่ดีใส่ตน
ส่วนกรณีของอดีตครูท่านนี้ มีประเด็นคือ ครูเซ็นค้ำประกัน กยศ.ให้ลูกศิษย์ แค่ 8,000 บาท ช่วงเรียนมัธยมปลาย ทำไมลูกศิษย์ถึงนำหลักฐานเดิมไปใช้กู้ต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งในประเด็นนี้ เราได้พยายามติดต่อไปยัง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อสอบถามในประเด็นดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า ในกรณีที่จะมีการกู้ยืมเงินจาก กยศ. ผู้กู้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำก่อน
และไม่ใช่ว่า จะเอาหลักฐานเอกสารของผู้ค้ำประกันไปใช้ในการกู้รอบใหม่ได้เลย แต่ผู้ค้ำประกันจะต้องเดินทางไปสถานศึกษาแห่งใหม่ เพื่อเซ็นยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ว่า ฉันพร้อมจะค้ำประกันให้ผู้กู้จริงๆ
ส่วนประเด็นที่ต้องยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามขั้นตอนแล้ว กยศ.จะต้องดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดีทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าปรากฏว่าไม่พบทรัพย์ของผู้กู้ยืม แต่พบทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน ทาง กยศ. ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน
สุดท้าย เรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้นผู้กู้ยืมควรชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดา และญาติๆ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับ ฉะนั้น ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านควรมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป