มีรายงานข่าวระบุว่า ระหว่างการประชุมพิจารณางบประมาณ 2564 ของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน ซึ่ง นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เข้าชี้แจงและเสนองบประมาณภาพรวมกว่า 300 ล้านบาท โดยในวงเงินส่วนนี้มีการของบประมาณเกี่ยวกับการจัดซื้อ "เรือยางติดเครื่องยนต์" 7,000,000 บาทต่อลำ และงบสำหรับการซ่อมบำรุงประมาณ 36 ล้านบาท แต่มีที่ปรึกษาคนหนึ่งในกรรมาธิการท้วงติงงบประมาณจัดซื้อเรือยาง และตรวจสอบแล้วพบว่าราคาเรือยางในท้องตลาด มีราคาเพียงแค่ 1,000,000 กว่าบาทไม่เกิน 2,000,000 กว่าบาทต่อลำ เท่านั้นทำให้บุคคลใน (คลิปเสียง) ซึ่งมีรายงานว่าเป็น ส.ส.แต่ไม่ได้เป็นอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว โพล่งขึ้นมาในห้องประชุม พร้อมโวยวายเกี่ยวกับการท้วงติงเรื่องราคาจัดซื้อด้วยคำพูดที่หยาบคายว่า “สุดท้ายไม่ได้ไปทำมาหาแดกงบประมาณมันเป็นความเป็นจริงได้ แต่มันนำไปทำจริงได้หรือไม่ ฝากด้วยนะครับ”
ทำให้ นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวชี้แจงว่า “ห้องนี้ไม่มีส่วนได้เสีย ทุกอย่างพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์บ้านเมือง เราพิจารณาเรื่องเรือมาหลายคณะ เรือตำรวจก็มี เรือเร็วก็มี เรืออะไรก็มี เราจึงพูดด้วยเหตุด้วยผล เอาราคามาพิสูจน์กัน และไม่มีกรรมาธิการท่านใดในเรื่องที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย เรารักษาผลประโยชน์บ้านเมือง และผมเรียนตรงๆว่าผมไม่เข้าใจท่าน”
ต่อมา บุคคลที่ไม่ได้เป็นอนุกรรมาธิการคนดังกล่าว พูดต่อว่า บอกว่า “ผมเคารพท่านนะ ถ้าไม่เคารพ ผมด่าไปแล้ว หากคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่มีเรื่องทุจริต ผมขอชื่นชมนะ แต่ที่ผมเจอมา มันไม่ใช่อย่างที่ท่านพูด ถ้าคณะท่านไม่มี ผมจะยกย่องและเชิดชู และยินดีจะถอนคำพูดกับสิ่งที่ได้พูดไป แต่ขอให้พิจารณาอย่างใช้หลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง และการที่ที่ปรึกษาออกมาพูดว่าสามารถซื้อได้ในราคาเท่านั้นเท่านี้ ที่ปรึกษาต้องรับผิดชอบและไม่อยากให้ต้อนอธิบดีจนมากเกินไป เพราะอธิบดีตอบไม่เก่ง แต่ผมรับรองว่า หากเจออธิบดีที่พูดเก่งๆ ที่ปรึกษาจะหน้าหงายเลย ผมถอน”
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวอีกว่า ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาในเรื่องดังกล่าว คนที่ไม่ใช่อนุกรรมการได้เข้าไปกระซิบนายสุพล ขอให้รีบผ่านงบประมาณส่วนนี้เร็วๆ ไม่ต้องพิจารณาเยอะ
ทั้งนี้ เมื่อบรรยากาศในห้องประชุมเริ่มมีการซักถามกรมเจ้าท่ามากขึ้น ก็ได้มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งโทรหาหนึ่งในอนุกรรมาธิการเพื่อขอให้ช่วยเรื่องการพิจารณา แต่สุดท้ายคณะอนุกรรมาธิการก็ตัดงบประมาณในภาพรวมของกรมเจ้าท่าออกไปประมาณ 6,000,000 บาท แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในห้องอนุกรรมการว่า ควรจะตัดงบประมาณได้มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น นายสุพล ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เพียงแต่ชี้แจงสั้นๆว่า "ผู้ที่ไม่ได้เป็นอนุกรรมาธิการ แต่เป็นกรรมาธิการชุดใหญ่สามารถเข้ารับฟังการประชุมได้ รวมถึง ส.ส.ก็สามารถเข้าร่วมประชุมได้" ส่วนการจัดซื้อเรือยางของกรมเจ้าท่า ยืนยันว่า "จัดซื้อเพียง 1 ลำ ภายใต้งบประมาณที่ขอมาคือ 7,000,000 บาท แต่อนุกรรมาธิการปรับลดไป 2 แสนบาท ซึ่งเท่ากับงบประมาณที่ใช้จัดซื้อเมื่อปี 2563 แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการตั้งราคาที่สูงเกินกว่าท้องตลาด ซึ่งอยู่ที่ 2,000,000 บาท แต่ทางกรมเจ้าท่าก็ได้ชี้แจงว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์เสริม จึงได้ขอให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อเรือยางดังกล่าว"
สำหรับงบประมาณภาพของกรมเจ้าท่า 313 ล้านบาท นอกจากจะจัดซื้อเรือยางแล้ว ยังมีการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ลำน้ำ 65 ฟุต 1 ลำ ราคา 30 ล้านบาท ปรับลดไป 2 ล้านบาท ค่าซ่อมใหญ่เรือทะเล 6 ลำ 36 ล้านบาท ปรับลดไปลำละ 2 แสนบาท ค่าซ่อมเรือใหญ่แม่น้ำ 6 ลำ 30 ล้านบาท ปรับลดไปลำละ 2 แสนบาท และค่าซีซีทีวีคลองแสนแสบ 39 ล้านบาท ปรับลดไป 1 ล้านบาท