จากกรณีที่ นิ้ง กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา อดีตนักแสดงสาวมากความสามารถที่ฝากผลงานระดับตำนานประดับวงการไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภูตพิศวาส, รัตนโกสินทร์ หรือจำเลยรัก โดยล่าสุด เธอป่วยด้วย "โรคไขกระดูกบกพร่อง" โรคปริศนา ไร้สาเหตุ ที่ทำให้เธอป่วยหนักจนหวิดเอาชีวิตไม่รอด!
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ พาไปทำความรู้จัก "โรคไขกระดูกสันหลังบกพร่อง" โรคร้ายสุดอันตราย พบมากในวัยรุ่น - คนชรา พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการอันเป็นสัญญาณเตือนหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ รีบไปพบแพทย์ด่วน
โดยทีมข่าวได้พูดคุยกับ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เกี่ยวกับรายละเอียดของโรคดังกล่าว ซึ่งทีมข่าวจะไล่เรียงข้อมูลทางการแพทย์ให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- สาเหตุ "โรคไขกระดูกบกพร่อง"
โดยสาเหตุของโรคไขกระดูกบกพร่อง ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคเพียง 4 ใน 1 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่มสาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้
1. โรคทางพันธุกรรม (ไม่ทราบสาเหตุ)
2. เกิดจากปัจจัยที่ได้รับภายหลังจากการรักษา อาทิ
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยการฉายแสงเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะไปโดนไขกระดูกสันหลังจนทำให้เกิดอาการฝ่อได้
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบเคมีบำบัดบางชนิด
- ผู้ป่วยได้รับยาบางชนิด ซึ่งยาตัวนั้นๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อไขกระดูกสันหลัง
- ผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน
- อาการ
ทั้งนี้ ไขกระดูกมีหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด เมื่อไขกระดูกฝ่อก็จะทำให้เม็ดเลือด และเกล็ดเลือดน้อยตามไปด้วย จนส่งผลให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย
- เลือดออกง่าย เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ
- เกิดรอยช้ำ(จ้ำลือด)ตามตัว
- มีเลือดออกใต้ผิวหนังได้ง่าย
- เลือดออกตามไรฟัน
- มีประจำเดือนมากผิดปกติ
- เม็ดเลือดขาวต่ำ ติดเชื้อง่าย
"โดยอาการของโรคจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะเสียชีวิตเนื่องจากปัจจัยแทรกซ้อนอื่น เช่น การติดเชื้อ เลือดหยุดไหลยาก เสียเลือดมาก" นายแพทย์สมศักดิ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
- การวินิจฉัย
- ตรวจเลือด
- เจาะไขกระดูก ซึ่งหลังจากแพทย์ได้ทำการเจาะไขกระดูก จะสามารถตรวจพบได้ทันทีว่า ผู้ป่วยรายนั้นๆ ป่วยด้วยโรคไขกระดูกบกพร่องหรือไม่
- การรักษา
- การรักษาจะเป็นไปตามอาการ เช่น การให้เลือด, เกล็ดเลืงอด, เม็ดเลือดขาว
- การให้ยากดภูมิต้านทาน ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันทำลายไขกระดูก
- การปลูกถ่ายไขกระดูกสันหลัง(วิธีนี้จะรักษาให้หายขาดได้)ของญาติที่มีผลการทดสอบที่สามารถเข้ากันได้ ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากมากๆ(เทียบกับฝาแฝดที่มาจากไข่ใบเดียวกัน) แต่จะมีข้อเสียที่หากผู้ให้และผู้รับไม่สามารถเข้ากันได้จะมีอาการปฎิเสธที่จะมีผลข้างเคียงมากมาย ร้ายแรงที่สุดคือถึงขั้นเสียชีวิต
- วิธีป้องกัน
- หากสาเหตุเกิดจากพันธุกรรมจะป้องกันค่อนข้างยาก
- แต่ในส่วนที่เป็นจากปัจจัยอื่น ผู้ที่ได้รับการฉายแสง เคมีบำบัด หรือได้รับยาบางตัว หรือเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ก็จะต้องพึงระวังตรวจร่างกายเป็นพิเศษ
"ดังนั้น วิธีป้องกันไม่มี สามารถทำได้เพียงออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่" นายแพทย์สมศักดิ์ อธิบดีกรมการแพทย์.