ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. มีมติขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน...
เหตุนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างไปทั่วทุกหัวระแหง หลายฝ่ายเอะใจสงสัยว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมีเพียง 0-5 ราย แล้วเหตุใดยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน? คำสั่งและข้อห้ามต่างๆ สามารถใช้กฎหมายอื่นๆ ได้ แล้วเหตุใดยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน? สรุปแล้ว รัฐบาลต้องการคุมอะไรกันแน่?
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท่ามกลางสถานการณ์ 'ไม่ฉุกเฉิน'
โดยทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแง่มุมต่างๆ ในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เราอยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเกือบ 2 เดือนเต็ม ซึ่งเราจะต้องถามว่าหน้าที่และประโยชน์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ณ ขณะนี้คืออะไร"
"เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ถูกประกาศใช้เพื่อเป็นการควบคุมโรค ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินคลี่คลาย และไม่มีหน้าที่หรือประโยชน์ที่จำเป็นแล้วก็ควรจะถูกยกเลิก แล้วกลับไปใช้กฎหมายปกติที่ควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งก็คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเราจะต้องย้อนถามรัฐบาลถึงประโยชน์ และหน้าที่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอนนี้ว่าคืออะไร หากรัฐบาลไม่สามารถอธิบายได้ ผมคิดว่ามันก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกต่อไป"
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังกล่าวอีกว่า “ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้ดีมาก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำหลัก 0-3 ราย และอัตราการรักษาโรคก็สำเร็จเกิน 90% จนกลับบ้านหมดแล้ว ซึ่งเหลือคนที่ต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเพียงไม่ถึง 100 ราย"
"ดังนั้น การที่รัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมเป็นการย้อนแย้งสวนทางกับมาตรการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล การที่อนุญาตให้เปิดห้างได้ ก็หมายความว่ารัฐบาลได้พิจารณาแล้วว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลง ดังนั้นหากจะควบคุมโรคจริงๆ โดยไม่ใช่เป็นการควบคุมคน หรือมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงจริงๆ ผมคิดว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็เพียงพอแล้ว”
พลิกดูอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้ข้อมูลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจแก่รัฐบาลต่างจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ดังนี้
1. การควบคุมข้อมูลข่าวสาร
2. การประกาศเคอร์ฟิว
3. เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ เช่น หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมผู้ใด คนผู้นั้นไม่มีสิทธิฟ้องศาลเอาผิดย้อนหลังแก่เจ้าหน้าที่ได้
"ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเกิดความเคยชินกับอำนาจที่สามารถทำอะไรก็ได้ จะไปจับใคร หรือจะไปปิดสื่อโดยไม่ต้องรับผิด จึงเกิดเป็นคำถามว่า นี่เป็นการใช้ยาแรงเกินไปหรือไม่ ซึ่งยาแรงอาจจะจำเป็นในช่วงแรกที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากถึงหลักร้อย แต่ตอนนี้เราพ้นจุดนั้นมาแล้ว และเป็นหนึ่งในประเทศที่สำเร็จในเรื่องการควบคุมโรคระบาด จึงคิดว่าถ้าจะควบคุมโรค แค่ พ.ร.บ.โรคติดต่อก็เพียงพอ เว้นแต่รัฐบาลจะมีนัยยะทางการเมืองอย่างอื่น" ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้ความเห็น
ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำราบโรค หรือสกัดม็อบ!
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้เพื่อสกัดโรค หรือสกัดใครกันแน่นั้น ผศ.ดร.ประจักษ์ วิเคราะห์ว่า 1. เพื่ออำนาจในการควบคุมข่าวสารทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถระงับได้ในทันที
2. การสั่งห้ามการชุมนุม เมื่อรัฐประเมินสถานการณ์แล้วมีแนวโน้มที่อาจจะมีคนออกมาชุมนุมประท้วง เรียกร้อง อาทิ กลุ่มคนที่ไม่พอใจกับมาตรการเยียวยา หรือกลุ่มนักศึกษาเองก็ตาม ดังนั้น หากยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ก็สามารถสกัดม็อบไม่ให้คนชุมนุมได้
3. ควบคุมพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง มิหนำซ้ำตอนนี้ยังมีปัญหาแตกแยกภายในพรรคพลังพลังประชารัฐ ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบอำนาจให้นายกฯ สามารถแต่งตั้งคณะทำงานอย่าง ศบค. หรืออื่นๆ ได้ ซึ่งข้ามหัวพรรคร่วมรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องผ่านกลไกการทำงานตามปกติที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก
"ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าอำนาจทุกอย่างขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการรวบอำนาจทางการเมืองในรูปแบบหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไปใช้อำนาจได้เหมือนตอน คสช. อีกครั้งหนึ่ง" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนหรือไม่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ตอบข้อซักถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนค่อนข้างเยอะ ซึ่งในช่วงแรกที่สถานการณ์ยังควบคุมไม่ได้ ประชาชนก็พร้อมยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงแรก แต่เมื่อควบคุมโรคได้แล้ว ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘ฉุกเฉิน’ ก็ต้องใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ เพราะจะเป็นการกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นต้องใช้เท่าที่จำเป็นและในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น เมื่อใช้โดยที่ไม่จำเป็นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้มาก ซึ่งบางครั้งอาจมากเกินความจำเป็น
“การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลมีนัยยะทางการเมือง เมื่อบทบาทหน้าที่ในการควบคุมโรคของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้หมดลงแล้ว และสามารถกลับมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้แล้ว การที่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีกแบบนี้ คนก็จะคิดว่าเป็นการทำเพื่อเป้าหมายทางการเมืองอย่างอื่น ซึ่งก็อาจจะเป็นการสกัดกั้นการรวมกลุ่ม หรือการชุมนุมของประชาชน" ผศ.ดร.ประจักษ์ แสดงทรรศนะ
“ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าเราไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จการรับมือโควิด-19 อย่าดูแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเดียว แต่จะต้องดูว่ารัฐบาลของประเทศนั้นสามารถรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมโรค กับการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเราสามารถควบคุมโรคได้ดี เราจึงควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย” ผศ.ดร.ประจักษ์ ทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ ยังมีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่า การจะลดการแพร่ระบาดได้อยู่หมัดนั้น จะต้องสร้างวินัยระดับบุคคล และสังคม นั่นก็คือการใส่หน้ากากหรือการล้างมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องงดกิจกรรมที่มีการชุมนุมกันในสถานประกอบกิจการหลายอย่าง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการหยุดการแพร่ระบาด และด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้นั้น ต้องมององค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. บรรลุความต้องการ คือจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับคงที่
2. ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัยจริงๆ หากจะคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะต้องยืนยันให้ได้ว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการยังมีอยู่อีกหรือไม่ หากว่ามี มีจำนวนเท่าไหร่
3. หากเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งหมายความว่าจะเริ่มมีการทำกิจกรรมหรือกิจการในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีการชุมนุมมากขึ้น ดังนั้น ควรจะมีอะไรที่จะช่วยสร้างความมั่นใจมากกว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ประชาชนได้รับทราบกันอยู่ทุกวัน
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน? ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า “ขึ้นอยู่ที่ว่าประชาชนทั้งประเทศมีความพร้อมใจกันทำตามระเบียบวินัยตามมาตรฐานหรือไม่ หากว่าประชาชนมีความเคารพและรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมแล้วนั้น การจะมีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่มีความหมาย”