กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือภาคีเครือข่าย เปิดร้าน “การบูร” คัดสรรผลิตภัณฑ์คุณภาพ เป็นโมเดลร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบใหม่ในยุค New Normal
logo TERO HOT SCOOP

กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือภาคีเครือข่าย เปิดร้าน “การบูร” คัดสรรผลิตภัณฑ์คุณภาพ เป็นโมเดลร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบใหม่ในยุค New Normal

1,671 ครั้ง
|
21 พ.ค. 2563

           กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จับมือ ภาคีเครือข่ายเตรียมปรับโฉมร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ “การบูร” เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ในยุค New Normal คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

 

 

           วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563 ) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง นายแพทย์มรุต  จิรเศรษฐสิริ  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม นายกแพทยสมาคมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน และนายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล กรรมการบริษัท มอร์ เมดดิคัล จำกัด ร่วมมือจัดทำแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ “การบูร” ให้เป็นโมเดลร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ตามแนวคิด “ร้านของคนไทยเพื่อผู้ประกอบการไทย” โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรไทยทั้งในและต่างประเทศ  โดย “ร้านการบูร” จะเป็นร้านค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุค New Normal ภายในร้านมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ผ่านการคัดสรรระดับพรีเมี่ยม อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นจากนายกรัฐมนตรี (Prime Minister Awards), รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (Premium Herbal Products), ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย (Quality Thai Herbal Products),  ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มีอัตลักษณ์หรือ OTOP และผลิตภัณฑ์สมุนไพร OEM ภายใต้แบรนด์ “การบูร”

 

 

              ภายในร้านการบูร จะจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ประกอบไปด้วย 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในชีวิตประจำวัน (Daily Life), ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชะลอวัย (Anti-Aging), ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Functional Foods & Drinks), ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicine) และผลิตภัณฑ์สปา (Spa)  ซึ่งจะมีรูปแบบร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรในแบบต่างๆ อาทิเช่นรูปแบบร้านค้าปลีก, รูปแบบ Kiosk ในร้านขายยา ใน supermarket ตลอดจนร้านค้าของกลุ่มพันธมิตร คู่ขนานไปกับการทำ online platform เพื่อสร้างยอดจำหน่ายและให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรให้แก่ประชาชน และการพัฒนารูปแบบชั้นวางสินค้า (Product Shelf) มีข้อมูลและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตอธิบายสินค้า มีคู่มือและแนวทาง การจัดตั้งร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และต่อยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันในเฟส 2 ต่อไป โดยในเฟสแรกจะดำเนินงานในรูปแบบ Kiosk ในร้านขายยา และซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำร่วมกับร้านค้าปลีกการบูร ที่ศูนย์การค้าใจกลางเมืองในจังหวัดต่างๆ และในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี

     

 

             หลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แล้วเสร็จคาดว่าจะดำเนินการพร้อมเปิดตัว ในช่วงปลายปี 2563 และพบกับรูปแบบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบชั้นวางสินค้า (Product Shelf)  ณ ร้านค้าสวัสดิการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นปี 2564 ต่อไป