ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลต้องใช้ยาแรง ‘ล็อกดาวน์’ การปิดเมือง หรืออาจจะเรียกได้ว่า ‘กึ่งล็อกดาวน์’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อร้าย ซึ่งมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 รวมเป็นวลา 1 เดือนเต็ม
ขณะที่ วันนี้ (24 เม.ย.63) มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 15 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,850 ราย รักษาหายแล้ว 2,490 ราย และเสียชีวิต 50 ราย ผลปรากฎชัดแล้วว่า สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน เสียงโอดครวญจากผู้ยากไร้ คนหาเช้ากินค่ำ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการปิดเมือง และสังคมจึงเกิดคำถาม “ถึงเวลาปลดล็อกดาวน์แล้วหรือยัง?”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีการปลดล็อกดาวน์ ความว่า
“ในทางการแพทย์ ยาแรง หรือ ยาอันตราย หรือ การรักษาที่อันตราย จะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ และมีข้อกำหนดที่ต้องหยุดใช้ เราจะไม่ใช้ยาแรงโดยไม่ระมัดระวัง เพราะการใช้ยาแรงเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้แต่เกิดโทษถึงแก่ชีวิตได้"
การ "ปิดเมือง" คือ "ยาแรง" หรือ "ยาอันตราย" มีผลดีในการจำกัดการระบาดให้น้อยลง "ซื้อเวลา" ในการเพิ่มศักยภาพการควบคุมโรค และเตรียมทรัพยากรในการรักษาโรค แต่ก็มีข้อเสียคือ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทุกหย่อมหญ้า ยิ่งคนหาเช้ากินค่ำ ยิ่งทุกข์มากเป็นทวีคูณ
โดย นพ.สุรพงษ์ ได้หยิบยกคำกล่าวของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่ง ดร.ศุภวุฒิ ได้เปรียบเปรยการ "ปิดเมือง" เหมือนการ "กลั้นหายใจ" คนเรากลั้นหายใจได้นานไม่เท่ากัน คนที่พอมีทุนรอนสะสมย่อมกลั้นหายใจได้นานกว่าคนที่ขาดแคลน ดังนั้น จึงไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องที่คนกลั้นหายใจได้นานกว่าจะพร่ำบอกว่า "กลั้นหายใจกันต่อไปเถิด เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน" ในขณะที่คนกลั้นหายใจได้สั้นกว่ากำลังจะขาดใจตาย
ขณะที่ การตัดสินใจ "เปิดเมือง" เกิดขึ้นได้ถ้าคลื่นของการระบาดกำลังเป็นขาลงใกล้แตะฐาน ความรับรู้ของประชาชนในการป้องกันโรคเป็นไปอย่างกว้างขวาง (ไม่ต้องถึง 100% ขอเพียง 80% ก็เพียงพอแล้ว ตามหลักการ "ภูมิคุ้มกันหมู่ / Herd Immunity) และหากความพร้อมในการควบคุมโรค รักษาโรคถึงจุดที่พร้อม "เต็มอัตราศึก" แล้ว
ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์ ยังระบุอีกว่า เรามี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ป่วยโควิดแม้แต่คนเดียว และ 36 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้ว 14 วัน ทั้งยังมีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อกักกันตัว 14 วัน ทุกวันนี้ผู้คนใส่หน้ากากอนามัย และเฟซชีลด์เกิน 90% มีแอลกอฮอล์เจลล้างมือทั่วทุกแห่ง
ประเทศไทยมีการตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสแล้วทั้งสิ้น 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เม.ย. 63) ซึ่งสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000 - 4,000 ตัวอย่าง (ทั้งที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน
จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราพร้อม "เปิดเมือง" อย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขหรือยัง ผมตอบได้เลยว่า "ยิ่งกว่าพร้อม"
ล่าสุด ปราฎเอกสาร 9 แผ่น พร้อมลายชื่อคณะผู้จัดทำ นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เสนอแผนที่ชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ "กึ่งล็อกดาวน์" เข้าสู่มาตรการ "สร้างเสถียรภาพ" โดยสรุปใจความสำคัญว่า สถานการณ์ปัจจุบันมี 2 ทางเลือก คือ
1. เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อกำจัดโรค ซึ่งมาตรการนี้ อาจไม่เหมาะที่จะใช้กับทั้งประเทศ แต่อาจใช้ในพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ที่มีการติดเชื้อสูง
2. เริ่มเปิดสถานที่ และกิจการอย่างมีขั้นตอน เพื่อควบคุมโรคให้แพร่ระบาดต่ำที่สุด และผู้คนกลับมาทำงาน เรียนหนังสือ และมีรายได้ไม่หยุดนิ่ง แต่ต้องดำเนินการ เป็นขั้นตอน เช่นผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ตามระดับความเสี่ยงของแต่ละจังหวัด
โดย 32 จังหวัด ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใน 2 สัปดาห์ หรือไม่มีเลย อาจผ่อนปรนได้ต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนอีก 38 จังหวัดที่แพร่ระบาดในวงจำกัด อาจผ่อนปรนได้ กลางเดือนพฤษภาคม และ7 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ อาจผ่อนปรนในเดือนมิถุนายน เป็นต้น