แฮชแท็กร้อนอย่าง #ยานเกราะพ่องง กำลังถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง เพราะด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย ประชาชนตาดำๆ ยังคงทุกข์ร้อนลำบากลำบนอดอยาก แต่กองทัพกลับมีแผนจัดซื้อรถยานเกราะ ด้วยงบประมาณ 4.5 พันล้านบาท
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันเผ็ดร้อน ผู้คนในสังคมต่างสงสัยว่า รถยานเกราะนั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้บ้าง และเอาไปใช้อย่างไร ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ ไล่เรียงรายละเอียดของ “รถยานเกราะ” ให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ตามข้อมูลทางเทคนิคและทางยุทธวิธี “รถยานเกราะล้อยาง” หรือ M1126 Stryker นั้น ใช้ในภารกิจลำเลียงทหารราบเข้าสู่พื้นที่การรบ
- ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 350 เเรงม้า น้ำหนักรถอยู่ที่ 16.47 ตัน ตัวรถยาว 6.95 เมตร กว้าง 2.72 เมตร สูง 2.64 เมตร หุ้มด้วยเกราะกันกระสุนขนาด 14.5 มม.
- M1126 Stryker สามารถบรรทุกทหารราบได้ 9 นาย พลประจำรถ 2 นาย และอาวุธหลัก(คาดว่าจะมีการติดตั้งมาให้) ซึ่งอาวุธเบื้องต้น คือ ป้อมปืนรีโมทขนาด 12.7 มม., เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. พร้อมด้วยท่อยิงระเบิดควัน ระยะทำการ 530 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม.
- M1126 Stryker จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยกำลังรบให้มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และพร้อมต่อการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
- M1126 Stryker จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บและสูญเสียของทหารจากอาวุธยิงชนิดต่างๆ ได้ และยังเป็นการออมกำลัง ลดความเหนื่อยล้าของทหารแทนการเคลื่อนกำลังด้วยการเดินเท้า เมื่อเข้าสู่พื้นที่สู้รบ
อย่างไรก็ดี โครงการการจัดซื้อรถยานเกราะที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ณ ขณะนี้ เป็นแผนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของปี 2563 และเป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามความช่วยเหลือทางทหารระหว่างระเทศไทยและสหรัฐอเมริกา โดยโครงการดังกล่าว ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ไปแล้ว.
+ อ่านเพิ่มเติม