นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานการไฟฟ้า หลังจากที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าออกมาบ่นและร้องเรียนว่าค่าไฟฟ้าในเดือนรอบบิลที่ผ่านมา ทำไมจึงมีราคาแพงแบบก้าวกระโดด ทั้งๆ ที่รัฐบาลออกมาตรการลดค่าไฟให้ 3% เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าว เป็นความผิดพลาดล้มเหลวของการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบของรัฐบาล ตั้งแต่การฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกินกว่า 70% ไปแล้ว โดยมีการทำสัญญาซื้อขายถาวรล่วงหน้าทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาได้ เพราะโรงไฟฟ้าของรัฐผลิตได้ไม่ถึง 30% ทำให้ขณะนี้มีปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 43,372 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาจากเอกชน
ขณะที่ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 28,338 เมกะวัตต์ (สถิติใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อปี 62 เพียง 32,272 เมกะวัตต์) ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เหลือทิ้งเป็นปริมาณที่สูงมาก ทำให้ภาครัฐต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมฉกเงินจากกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนโดยผ่านค่า FT ไปจ่ายให้เอกชนตลอดเวลา รวมทั้งการคิดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดคือใช้จำนวนมากก็เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งๆ ที่ควรเรียกเก็บตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือนจากปริมาณการใช้จริง ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องมีคำตอบ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าทั้งหลายทั้ง กฟผ. - กฟน. และ กฟภ. ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้างวดเดือน เม.ย.-มิ.ย. รวม 3 เดือน ทั้งๆ ที่ควรจะลดค่าไฟฟ้าให้ทุกครัวเรือน 50% ในยามที่ต้องอยู่บ้านหนีภัยโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนในระยะยาวต้องเร่งลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนลงมาให้ได้ 50% จึงจะชอบ
การที่หลายบ้านได้รับบิลค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด ทั้งๆ ที่เทียบกันเดือนต่อเดือนแล้วไม่น่าจะแพงขนาดนั้นและได้ส่วนลด 3% แล้วก็ยังแพงอยู่ดีนั้น เรื่องนี้อาจมีกลเล่ห์ฉลที่ซ่อนเงื่อนงำไว้อีกมากที่รัฐบาลโดยหน่วยงานไฟฟ้า และผู้กำกับไฟฟ้า ไม่ได้บอกความจริงต่อประชาชนทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมการการจ่ายโบนัสให้พนักงานเจ้าหน้าที่กันอย่างมากมายแบบอู้ฟู้ บนความเดือดร้อนของประชาชนในยุคโควิด-19 และรวมทั้งการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การผลิต การส่ง การบำรุงรักษาไฟฟ้าที่ราคาแพง ซึ่งเป็นต้นทุนของการไฟฟ้าที่ผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนช่วยรับผิดชอบทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะนำหลักฐานไปร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบในเร็วๆ นี้
+ อ่านเพิ่มเติม