“เราจะตายเพราะโควิด-19 หรืออดตาย” ประโยคข้างต้นกลายเป็นวลีติดปากของชาวบ้านร้านตลาดทั่วราชอาณาจักร เพราะวินาทีนี้ผู้คนคงไม่ได้กลัวแค่ไวรัส แต่การมีชีวิตอยู่โดยไม่มีเงินนั้น กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน
หลายสัปดาห์มานี้ ผู้คนเริ่มกลับไปพูดถึง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่คนไทยไม่มีวันลืม...จากเศรษฐี กลายเป็นยาจก จากมนุษย์เงินเดือน กลายเป็นคนตกงานเตะฝุ่น ซึ่งภาพเหล่านั้นกำลังกลับมาอีกครั้ง จนหลายคนถึงกับเอ่ยปากว่า “รากเลือดไม่แพ้กัน”
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงความแตกต่างระหว่าง “โควิด-19” และ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งทั้งสองวิกฤติมีข้อแตกต่างอันน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
- ประการที่ 1 : ถังแตก VS ถังไม่แตก
วิกฤติต้มยำกุ้ง : “ผมขอเรียกวิกฤติครั้งนี้ว่า ถังแตก ประเทศไทยเปรียบเสมือนบริษัทที่ใช้จ่ายเกินควร ใช้จ่ายจนเงินในกระเป๋าหมด”
“ในทางเศรษฐศาสตร์ ณ เวลานั้น เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่เพียง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เรามีหนี้ในต่างประเทศถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และนี่เรียกว่าเราตกอยู่ในสภาวะ ถังแตก”
“ณ เวลานั้น ประเทศไทย ต้องไปกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นจำนวนเงินกว่า 17,200 ดอลลาร์สหรัฐ”
วิกฤติโควิด-19 : “วิกฤติครั้งนี้ เราไม่ใช่วิกฤติถังแตก ประเทศไทยยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าเราจะถังไม่แตก แต่ครั้งนี้เราเจอวิกฤติสุขภาพ ซึ่งวิกฤติสุขภาพนั้น มีผลกระทบไปยังวิกฤติเศรษฐกิจ คนตกงาน ธุรกิจปิดตัว รัฐบาลต้องนำเงินออกมาเยียวยาผู้คนจำนวนมาก” ผศ.ดร.สมชาย อธิบายให้เห็นภาพ
- ประการที่ 2 : คนรวย VS คนจน
วิกฤติต้มยำกุ้ง : “ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ คือ คนรวยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ณ เวลานั้น มีสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งต้องปิดตัว”
“วิกฤติต้มยำกุ้ง แม่ค้าแม่ขายยังทำมาค้าขายได้ มิหนำซ้ำยังขายดิบขายดี เพราะคนเคยรวย ต้องออกมาหาซื้อข้าวปลาอาหารราคาถูกกิน”
วิกฤติโควิด-19 : ส่วนวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะคนรวยเท่านั้น เพราะวิกฤติครั้งนี้ คนจน คนชั้นกลาง คนรวย ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด
“คนทำธุรกิจ ธุรกิจไปต่อไม่ได้ สินค้าขายไม่ออก แถมยังต้องก่อหนี้เพิ่ม ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กขายสินค้าไม่ได้ ลูกจ้าง พนักงานถูกเลิกจ้าง ถูกพักงาน แม่ค้าแม่ขายรายได้หดหาย แทบไม่พอเลี้ยงครอบครัว” ผศ.ดร.สมชาย ชี้ให้เห็นสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ประการที่ 3 : เอเชีย VS ทั่วโลก
วิกฤติต้มยำกุ้ง : วิกฤตินี้แผ่ขยายไปเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์
วิกฤติโควิด-19 : ส่วนโควิด-19 นั้น มีการแพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด หรือประเทศที่มหาอำนาจที่สุด
- ประการที่ 4 : รู้วันสิ้นสุดของวิกฤติ VS ไม่รู้ว่าวิกฤติสิ้นสุดเมื่อไหร่
วิกฤติต้มยำกุ้ง : วิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้เกี่ยวข้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า หนทางที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น มีอะไรบ้าง และต้องแก้ไขอย่างไร และสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำว่า จุดสิ้นสุดของวิกฤติจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น กินระยะเวลาเพียง 2 ปี(ปี 2540-2541) เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 ปีนี้ GDP ประเทศไทยติดลบต่อเนื่อง 14% และหลังจากนั้น ประเทศไทยก็ค่อยๆ ฟื้นตัว
วิกฤติโควิด-19 : ส่วนโควิด-19 ไม่มีใครรู้ว่า วิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ แม้แต่บุคลากรทางแพทย์ก็ไม่สามารถประเมินวันเวลาที่โควิด-19จะคลี่คลาย หรือทุเลาเบาบางลงได้
- ประการที่ 5 : นักการเงิน VS แพทย์
วิกฤติต้มยำกุ้ง : พระเอกของวิกฤตินี้ คือ นักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์
วิกฤติโควิด-19 : พระเอกของวิกฤตินี้ คือ บุคลากรทางการแพทย์
- ประการที่ 6 : แก้การเงินการคลัง VS แก้การสกัดยับยั้งโรคระบาด
วิกฤติต้มยำกุ้ง : “การแก้ไขปัญหาในวิกฤติครั้งนี้ ต้องแก้ปัญหาทางการเงินการคลัง ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้อาณัติของ IMF ซึ่ง IMF บีบให้ประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังอย่างเข้มข้น ซึ่งต่อมาทำให้สถาบันการเงินในประเทศไทยเจ๊งไปหลายสิบแห่ง”
วิกฤติโควิด-19 : วิกฤตินี้ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาจากมาตรการทางการเงินการคลัง แต่ต้องเริ่มแก้ปัญหาจากการสกัดยับยั้งโรคระบาด และต่อเนื่องมาถึงการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งนี้จะต้องแจกเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการ
“วิกฤติโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งตรงที่วิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ รัฐบาลมีการแจกเงิน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ในขณะที่ ทั้งสองวิกฤติ จะมีความเหมือนกันอยู่จุดหนึ่งก็คือ รัฐบาลต้องช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจเกิดสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด” ผศ.ดร.สมชาย แสดงทรรศนะ
- ประการที่ 7 : ฟื้นเร็ว VS ฟื้นช้า
วิกฤติต้มยำกุ้ง : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในวิกฤติต้มยำกุ้ง ถือว่า ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งภายหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง การส่งออกเติบโตพุ่งขึ้นต่อเนื่อง เพราะว่าจากเดิมที่ 1 ดอลลาร์ ซื้อได้แค่ 25 บาท เป็น 1 ดอลลาร์ซื้อสินค้าไทยได้ 50 บาท
วิกฤติโควิด-19 : “ส่วนวิกฤติโควิด-19 ผมมองว่า เรายังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และเมื่อใดที่สถานการณ์คลี่คลาย ประเทศไทยจะฟื้นตัวแบบคนขาเป๋ ต้องค่อยๆ ประคองให้เดินหน้าต่อไป แต่ไม่สามารถเดินได้เร็ว หรือเดินได้คล่องและที่สำคัญ ประเทศไทยจะไม่รอให้สถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด แล้วค่อยเดินต่อ แต่เราจะรอวันที่สถานการณ์คลี่คลาย แล้วค่อยๆ เดินต่อไป ซึ่งผมมองว่า อีก 2-3 เดือน(มิถุนายนถึงกรกฎาคม) สถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลาย”
“ถ้ารอจนโรคระบาดหายไป คนก็คงเป็นโรคบ้า และอดตายกันหมด เพราะกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะเรียบร้อยคลี่คลายทั้งหมด คนไทยมีวัคซีน มียารักษา ผมมองว่าไม่ต่ำกว่า 2 ปี ส่วนปีนี้ทั้งปี อย่างไรก็ต้องติดลบแน่นอน” ผศ.ดร.สมชาย ให้ความเห็น
"วิกฤติไวรัสโควิด-19 หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง
ซึ่งต้มยำกุ้งทำให้คนรวยกลายมาเป็นคนจน
แต่โควิด-19 ไม่ว่าคนรวย คนจน คนชั้นกลาง
ไวรัสไม่ยกเว้นให้แก่ใครทั้งสิ้น" ผศ.ดร.สมชาย ทิ้งท้าย