ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่สั่นคลอนเศรษฐกิจทั่วโลก สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า บ้างถูกพักงาน เลิกจ้าง ตัดเงินเดือน หรือแม้แต่ไล่ออก แม้รายรับจะชะงัก แต่หนี้สิน รายจ่ายไม่เคยหยุดนิ่ง ความหวังสุดท้ายคงหนีไม่พ้นความช่วยเหลือจากทั้งทางภาครัฐ และเอกชน
ล่าสุด กยศ. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ อาทิ ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5%, ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว, ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ , พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี, ผ่อนผันการชำระหนี้, งดการขายทอดตลาด, ชะลอการบังคับคดี
ขณะที่สังคมเกิดข้อสงสัย ต่างตั้งคำถามมากมายถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการเข้าร่วมมาตรการ, ทำไมถึงไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้ตรงทุกงวด หรือแม้กระทั่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มหรือไม่
ทั้งนี้ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) โดยมีข้อมูลอันน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
- ทำไมไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ชั้นดี จ่ายตรงเวลา?
นายชัยณรงค์ ให้คำอธิบายว่า “สำหรับผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้ตรงเวลา ทางกยศ.ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ช่วยส่งมอบโอกาสให้กับน้องๆ แต่หากมีการพักชำระหนี้ทั้งหมดจะเกิดปัญหาเงินกองทุนหมุนเวียนไม่พอสำหรับผู้กู้รายใหม่"
"เราจึงมีมาตรการช่วยเหลือในส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยปรับจาก 7.5 เปอร์เซ็น เป็น 0.5 เปอร์เซ็น ดังนั้น หากท่านได้รับผลกระทบทำให้ไม่สามารถชำระได้แล้วจะเกิดการผิดนัดชำระทางเราก็ยินดีจะลดอัตราดอกเบี้ยให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือ” นายชัยณรงค์ กล่าว
- สถานะของลูกหนี้
ส่วนสถิติสถานะผู้กู้ยืมเงินกองทุนนั้น นายชัยณรงค์ ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีจำนวนลูกหนี้ค้างชำระ 2,160,795 ราย คิดเป็นจำนวนเงินค้างชำระ 78,708 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นผู้กู้ยืม 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ผู้กู้ยืมที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี 1,070,314 ราย เป็นเงิน 20,216 ล้านบาท
- ผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดี 864,185 ราย เป็นเงิน 42,543 ล้านบาท
- ผู้กู้ยืมที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว 226,296 ราย เป็นเงิน 15,949 ล้านบาท
- ขั้นตอนการเข้าร่วมมาตรการ
ขณะที่ วิธีการเข้าร่วมโครงการที่ผู้กู้ยืมยังไม่เข้าใจ และไม่ทราบถึงกระบวนการขั้นตอนนั้น ทีมข่าวไล่เรียงไว้ให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
กรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด : ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ใน กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับโดยอัติโนมัติโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 ธ.ค. 2563
กรณีพนักงานบริษัทภาคเอกชน : ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน ทางกยศ.จะแจ้งเรื่องไปทางบริษัทต้นทางให้ปรับลดอัตราการหักเงินเดือนเหลือ 10 บาทโดยอัติโนมัติ
กรณีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและยังไม่ถูกดำเนินคดี : พักชำระหนี้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันทีซึ่งไม่ต้องเดินทางมายื่นเรื่อง จะสามารถยื่นเรื่องพักชำระได้ สำหรับผู้ที่ชำระเป็นรายปีสามารถพักชำระได้เลยโดยจะกลับมาชำระในปี 65 ส่วนผู้ที่ชำระเป็นรายเดือนก็พักชำระ 24 เดือนหลังการอนุมัติ
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ หรือยังไม่ถูกยึดทรัพย์ ทางกยศ. จะทำการชะลอเรื่องและงดการขายทั้งหมดตลอดปีนี้ ยกเว้นคดีที่กำลังจะขาดอายุความเราจะทำการยึดทรัพย์
กยศ.เป็นกองทุนเงินหมุนเวียน ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน
โดยมีเงินหมุนเวียนจากรุ่นพี่ที่ส่งมอบโอกาสสู่รุ่นน้อง
ดังนั้น หากใครพอมีกำลังชำระหนี้ อยากให้ชำระหนี้ตามกำลัง เพื่อแบ่งปันโอกาสสู่สังคม...