ท่ามกลางกระแสตื่นตัวของสังคม กับโรคอุบัติใหม่ไวรัสมรณะ “โควิด-19” ที่กำลังคืบคลานเข้าใกล้ทุกคนเป็นเงาตามตัว เสมือนมัจจุราชเงียบที่พร้อมจะจู่โจม และพรากชีวิตเราไปได้ทุกเมื่อ
ผู้คนทั่วทั้งโลกต่างสงสัย และเฝ้ารอว่า โควิด-19 จะจบลงเมื่อใด เดือนใด ปีใด และเมื่อไหร่จะมี “วัคซีน” มาหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้ให้จบสิ้นเสียที
โดยล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ประจำวันที่ 1 เม.ษ. 63 มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,771 ราย เสียชีวิต 12 ราย
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ถึงระยะเวลาสิ้นสุดในการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยมีข้อมูลอันน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
ข้อนี้ตอบได้ยากเพราะมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวกำหนด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็คาดหมายว่าหากการระบาดใหญ่ครั้งนี้สิ้นสุดลง โรคนี้ก็อาจกลายเป็นเหมือนโรคไข้หวัดอีกชนิดหนึ่งที่เราต้องคอยป้องกันควบคุมโรคกันไป
นพ.นคร ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพให้เข้าใจโดยง่ายว่า เมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ H1N1 ที่มีการระบาดอยู่ในกลางปี 2009 จนถึงต้นปี 2010 แล้วต่อมาเชื้อ H1N1 ก็กลายเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีการระบาดในประชากรทุกปี ในกรณีของโควิด-19 ก็มีการคาดว่าระยะเวลาการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้อาจจะยาวนานกว่า
นพ.นคร มองว่า ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้วจะสามารถกลับมาป่วยใหม่อีกได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคระบาดชนิดใหม่ที่เราเพิ่งค้นพบกันมาแค่สามเดือนเศษ ต้องมีการติดตามผู้ที่หายจากการป่วยไปเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจึงจะได้คำตอบ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ที่ตอบสนองในแต่ละโรคซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไป
“การติดเชื้อแล้วป่วยด้วยไวรัส บางโรคป่วยแล้วก็จะไม่ป่วยซ้ำอีก บางโรคก็สามารถเป็นอีกได้แต่อาการอาจจะรุนแรงน้อยลง หรือในบางโรคอาจรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ”
นพ.นคร ระบุว่า ขณะที่ ทั่วโลกมีความพยายามในการวิจัยพัฒนาวัคซีน เพื่อสกัดยับยั้งโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งตามข่าวเท่าที่มีการเปิดเผย ทราบว่ามีอยู่ 2 ประเทศที่การวิจัยค้นคว้ารุดหน้ามากที่สุด นั่นก็คือ ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุด เริ่มทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 1 จากทั้งหมด 3 ระยะ ซึ่งหากสามารถวิจัยในขั้นตอนถัดไปจนพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนนั้นสามารถป้องกันโรคได้ จึงจะสามารถนำวัคซีนมาใช้ได้ อย่างเร็วที่สุดน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น
ในประเทศไทยเองเราก็มีนักวิจัยหลายทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโคบิด-19 อยู่ แต่ก็อยู่ในระยะเริ่มต้นทดสอบในสัตว์ทดลอง
“สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราควรจะต้องมีความพร้อม ทั้งในแง่ของบุคลากร ซึ่งเราควรสร้างนักวิจัยที่มีความรู้หรือความสามารถมีงานวิจัยวัคซีนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พัฒนาความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความรู้ และเมื่อถึงเวลาต้องใช้งาน เราจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเชื้อตัวใหม่ได้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความพร้อมด้านการผลิตให้สามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคอุบัติใหม่ในทำนองนี้ ซึ่งเราสามารถลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้” นพ.นคร กล่าวกับทีมข่าว
อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนต้องใช้เวลาแต่ไม่เกินความสามารถของนักวิจัยทั่วโลกที่กำลังร่วมมือกัน ดังนั้น ทุกภาคฝ่ายจะต้องตระหนักรู้ว่า เราควรป้องกันตัวเองอย่างไร เราจะเผชิญการแพร่ระบาดอย่างปลอดภัยด้วยวิธีใด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ควรอยู่บนบรรทัดฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่ารู้สึกกลัวจนเกินเหตุ และที่สำคัญ คือ อย่าการตีตราผู้ป่วย
สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าเชื้อร้าย คือทัศนคติของคน ตระหนักแต่ไม่ตระหนก หยุดตีตราผู้ป่วย อยู่อย่างเข้าใจแล้วเราทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
โควิด19
วัคซีนโควิด19
โควิด19จบเมื่อไหร่
นพทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
ศบค
สวช
นพนคร เปรมศรี
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009