ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โรคโควิด - 19 (COVID-19) ที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก จนทำให้ทางการจีนสั่งประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นต้นตอของการแพร่เชื้อ และยกเลิกทัวร์จีนทั้งใน และต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคอุสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งสินค้าทางการเกษตร การนำเข้า - ส่งออก และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ที่พัก รีสอร์ต โรงแรม สายการบิน รวมไปถึง ธุรกิจการเดินเรือสำราญ ที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ทว่าสถานการณ์ของเรือสําราญ ‘ไดมอนด์ ปริ้นเซส’ ที่เทียบท่าบริเวณท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อ โควิด - 19 เป็นจำนวนมาก และเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่เดินทางออกจากฮ่องกง สร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก หลังจากทราบว่าเรือสำราญ ‘เวสเตอร์ดัม’ ที่มีผู้โดยสารกว่า 2,257 คน ได้เข้ามาขอเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63 ที่ผ่านมาหลังจากที่ลอยลำอยู่กลางอ่าวนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีรายงานว่า เรือลำนี้ถูกปฏิเสธเทียบท่าจากหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เนื่องจากกลัวการติดเชื้อ โควิด – 19 โดยภายหลังทางรัฐบาลไทยได้ประกาศไม่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเข้าเทียบท่า แต่จะอำนวยความสะดวกเต็มที่ตามหลักมนุษยชน ต่อมาทางเรือเวสเตอร์ดัมได้ตัดสินใจยกเลิกการเทียบท่าที่ไทย แล้วหันหัวเรือไปทางกัมพูชาที่อนุญาตให้เรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ ทำให้หลายคนหายใจคล่องมากขึ้น
แต่ยังไม่ทันได้หายใจเต็มปอด วันที่ 13 ก.พ. 63 เรือสำราญอีกลำที่มีชื่อว่า ‘ซันบอร์น โอเวชัน’ ได้เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกในภูเก็ต สร้างความหวาดหวั่นและไม่พอใจอย่างมากในโลกออนไลน์ เพราะทางรัฐบาลไทยออกมายืนยันว่าเรือลำดังกล่าวไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้เดินทางในบริเวณจุดเสี่ยง และทางการมีมาตราการตรวจร่างกายอย่างละเอียด อีกทั้งเรือลำนี้จะจอดเทียบท่าเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น ภายหลังทราบว่าไม่พบผู้ติดเชื้อบนเรือ ซันบอร์น โอเวชันแม้แต่คนเดียว
การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ เป็นอุตสหากรรมการท่องเที่ยวประเภทหนึ่งที่เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางจากยุโรป โดยเป็นการที่ยกโรงแรมหรูมาไว้บนเรือแล้วล่องกลางทะเลไปตามจุดหมายปลายทางให้ประเทศต่างๆ ที่มีท่าเรือรองรับ ซึ่งเรือสำราญแต่ละลำมักถูกปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยว โดยทุกบริษัทจะมีองค์การที่มีหน้าที่กำกับดูแล และส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ด้านการเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ ที่เรียกว่า The Cruise Line International Association (CLIA)
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าตลาดเรือสำราญในประเทศไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเรือสำราญเข้าเทียบท่าจำนวน 550 ลำ โดยจุดเทียบท่ายอดฮิตในไทย อันดับ 1 คือ ท่าเรือภูเก็ต จำนวน 188 ลำ, รองลงมาคือ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ 147 ลำ, ท่าเรือสมุย 59 ลำ, ท่าเรือพังงา 29 ลำ และท่าเรือเกาะห้อง 28 ลำสิ่งที่น่าสนใจ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับเรือสำราญ มีมากถึง 600,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ พักค้างคืนบนฝั่งกว่า 150,000 คน ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัด 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
โดยเรือสำราญที่เข้ามาในไทย ส่วนใหญ่กว่า 80% มาจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน และ ฮ่องกง ส่วนอีก 20% เป็นเรือที่เดินทางมาจากฝั่งยุโรป และ อเมริกา ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2558 - 2562 ตลาดเรือสำราญในประเทศไทย เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี และมีอัตราเร่งตัว ในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยประกาศยุทธศาสตร์ "ฮับ ครุซทัวริซึ่ม เอเซีย" ทำให้ยอดการเข้าเทียบท่าเรือสำราญ พุ่งจาก 300 กว่าลำ ในปี 2559 เป็น 509 ลำในปี 2560
ซึ่งท่าเรือภูเก็ต ท่าเรือเกาะสมุย ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตย เป็นท่าเรือหลักๆ ในไทยที่ได้รับความนิยมอย่างาก โดยท่าเรือเหล่านี้จะให้บริการทั้งสายเรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน โดยจะมีสายเรือในภูมิภาค (Regional Cruise Line) ไปจนถึงสายเรือนานาชาติ (International Cruise Line) ส่วนในช่วงนอกฤดูกาลการท่องเที่ยว ปริมาณเรือสำราญจะลดน้อยลง โดยปัจจุบันบทบาทท่าเรือของไทยหลักๆ คือการเป็นท่าเรือแวะพัก ซึ่งเรือสำราญจะนำนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยว แล้วกลับขึ้นเรือเดินทางต่อไปยังท่าเรืออื่น โดยระยะเวลาและจำนวนวัน จะมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของท่าเรือ เช่น 4 วัน 3 คืน จากท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศฮ่องกง ไปยังท่าเรือในไต้หวัน เป็นต้น
การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย แม้ว่าจะอยู่บนเรือก็ตาม ได้แก่ ห้องอาหารสุดหรูที่ รวบรวม อาหารจากร้านอาหารชื่อดังจำนวนมากอยู่บนเรือ โดยสามารถเลือกได้ว่า จะรับประทานเป็นแบบบุฟเฟต์ หรือ สั่งเป็นคอร์ส อยากรับประทานอาหารยุโรป จีน หรือญี่ปุ่นก็จะมีห้องอาหารให้เลือก อีกทั้งยังมีบาร์ หรือห้องไวน์ให้บริการ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดื่มแอลกอฮอลล์ให้ได้ลิ้มลอง
รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่บนเพดานเรือ ห้องเล่นเกมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องเล่นเกม แม้กระทั่งห้องเล่นโบลิ่ง ลานสเก็ต แต่หากเรือลำใดที่มีขนาดใหญ่โต ที่สามารถบรรจุคนได้มากกว่า 1000 คน ก็สามารถที่จะบรรจุกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟลงไปให้ลูกค้าได้เลือกเพิ่มเติม อาทิ ปืนผาจำลอง ไต่เชือกโหนสลิง และกระเช้าชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวรอบข้างได้ถึง 360 องศา
หรือบางช่วงเวลาบนเรือสำราญ ให้ห้องโถงใหญ่หรือห้องที่ใช้สำหรับจัดแสดง จะมีการจัดแสดงโชว์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียง โดยขนนักแสดงชื่อดังมาไว้บนเรือ อย่างเรือ Genting Dream ได้ยกเวที China Got Talent จากประเทศจีน และ The Voyage of A Lover Dream ผจญภัยกับนางเงือกน้อย ที่ใช้เทคนิคแสง สี เสียงเพื่อสร้างประทับใจแก่ผู้ชม รวมไปถึงพื้นที่สำหรับกิจกรรมความสวยความงาม และสุขภาพอย่าง ‘สปา’ ที่สามารถเลือกได้ว่าจะเอาแบบ สปาตะวันตก สปาตะวันออก หรือสปาสำหรับการแพทย์ที่ใช้บำบัด รักษาและเสริมสร้างความงามที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์การแพทย์และธรรมชาติ (Medical Spa)
และหากใครเป็นคนที่ชื่นชอบการช๊อปปิ้ง บนเรือได้มีการยกร้านค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า ของแบรนด์เนม อย่างหากเป็นเรือสำราญของค่ายดิสนีย์ อย่าง Disney Dream จะมีภายในจะเต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย สำหรับสาวกตัวการ์ตูนดิสนีย์ให้ซื้อสะสมกัน นอกจากนั้นยังสามารถลงไปท่องเที่ยวตามประเทศต่างๆ ที่เป็นท่าเรือระหว่างทางได้
ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียจะยังมีไม่มากถ้าเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แต่ถ้าดูอัตราการเจริญเติบโตแล้ว (อ้างอิงจากข้อมูลของ PATA (2010) และ CLIA (2014)) จะเห็นได้ว่า มีการอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 มีอัตราการเติบโตที่ 2.4% เป็น 3.3% ในปี 2556 และ 4.4% ในปี 2557 เป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว และน่าจับตามอง ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นได้ว่า ศักยภาพของภูมิภาคเอเชียต่ออุตสาหกรรมเรือสำราญ
เหตุผลหลักที่ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น คือ ท่าเรือที่มีความหลากหลายครอบคลุมในหลายพื้นที่ และสินค้าทางการท่องเที่ยวของแต่ละท่าเรือมีลักษณะเฉพาะ ฤดูกาลล่องเรือก็สามารถล่องเรือได้ตลอดปี ความคุ้มค่าของเงิน ความน่าสนใจของเส้นทางการล่องเรือระยะทางระหว่างท่าเรือที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้หลายสายการเดินเรือทุกขนาดได้นำเรือเข้ามาในแถบเอเชียมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ตอนนี้ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากวันที่ 16 ก.พ. 2563 มีรายงานออกมาว่า ทางการมาเลเซียว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 1 รายจากผู้โดยสารบนเรือเวสเตอร์ดัม ส่งผลให้วันถัดมา (17 ก.พ. 63) ทางการไทยประกาศไม่ให้ผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัมเข้าประเทศโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซื้อโควิด – 19 และวันที่ 20 ก.พ. 63 ได้พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิค- 19 บนเรือไดมอนด์ ปริ๊นเซสที่ญี่ปุ่น 2 ราย อีกทั้งทางการมาเลเซียได้ประกาศไม่ให้ผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัม และเรือลำอื่นๆ จากท่าเรือในจีนเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ล่าสุดวันที่ 25 ก.พ. 63 ได้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกบนเรือไดมอนด์ ปริ๊นเซส รวมเป็น 4 รายด้วยกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.dreamcruiseline.com/