การลวนลามทางเพศบนโลกออนไลน์ เป็นภัยเงียบที่ถูกเพิกเฉย ซึ่งเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของสังคม เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบ และความเสียหายตามมา ดังนั้นควรจะไตร่ตรองทุกครั้ง ก่อนโพสต์ ก่อนแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น
การใช้ภาษาลวนลามทางเพศทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Sexual Harassment) ถือเป็นส่วนย่อยของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Bulling) และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล นับว่าเป็นการคุกคามทางเพศ เป็นภัยไม่ควรเพิกเฉยหรือปล่อยให้ผ่านไป ซึ่งตอนนี้หลายประเทศตื่นตัวกันมากขึ้น ในเมืองไทยก็มีหลายกรณีของการเหยียดหยาม กลั่นแกล้ง คุกคามด้วยความเห็นหยาบคาย ซึ่งอาจคึกคะนอง หรือหงายการ์ด รู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่ลืมนึกถึงผลเสียที่ตามมา
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การคุกคามทางเพศ ต้องเป็นการข่มขืน การแตะเนื้อต้องตัวเท่านั้น แต่การคุกคามทางเพศมีความหมายกว้างกว่านั้น คือการกระทำใด ๆ ที่ล่วงเกินทั้งทางวาจาและกาย การสัมผัส จ้องมองหรือแม้แต่ใช้คำพูดแทะโลม วิพากษ์วิจารณ์สรีระร่างกายหรือแซวหยอกล้อ ก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศ โดยส่งผลกระทบทำให้ผู้ที่ถูกกระทำเกิดความไม่พึงพอใจ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
“สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการนำไปสู่การคุกคามทางเพศ”
คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าจากสถิติพบว่า การคุกคามทางเพศบนโลกของโซเชียลมีเดียมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันในสังคมไทยเรา โดยการใช้สื่อออนไลน์นั้น เป็นเครื่องมือซึ่งนำไปสู่การคุกคามทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์ที่พบบ่อยมากที่สุดก็คือ การข่มขู่ผู้ถูกกระทำและคนสนิทบนโลกออนไลน์ เช่น เมื่อฝ่ายหญิงเลิกกับฝ่ายชาย แล้วฝ่ายชายนำภาพโป๊ที่เคยถ่ายตอนเป็นแฟนกันแล้วนำไปโพสต์ลงบนโลกออนไลน์ เพื่อแก้แค้นฝ่ายหญิง ทำให้ฝ่ายหญิงได้รับความเสื่อมเสียหรืออับอาย ดังนั้นในกรณีเรื่องของการคุกคามทางเพศโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ มันทำให้ผู้หญิงหรือเยาวชนหลายๆคนตกเป็นเหยื่อของการถูกใช้ความรุนแรงในรูปแบบนี้มากขึ้น
‘ในโลกของความเป็นจริง เราไม่สามารถไปพูดจาในลักษณะการแทะโลมกับผู้อื่นได้อย่างไร และในโลกออนไลน์คุณก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน’
การคุกคามทางเพศในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การใช้ภาษาลวนลามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการแสดงความเห็นในทางดูถูก เหยียดหยาม เพศสภาพของผู้อื่น แล้วเห็นเป็นเรื่องตลก นำมาล้อเลียน เพื่อให้เกิดความอับอาย ซึ่งทุกเพศทุกวัย สามารถตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศในลักษณะนี้ได้ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเสนอขอทำกิจกรรมทางเพศกับบุคคลดังกล่าว ดังนั้นไม่ว่าเพศใด อายุเท่าไหร่ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปล่วงละเมิดพวกเขาได้ และไม่ว่าจะทำกับใครก็ตาม การกระทำเช่นนี้มันไม่ได้ทำให้ใครดูเท่ หรือดูเก่งเหนือกว่าใคร เพราะจะส่งผลให้ผู้ถูกกระทำ ต้องเผชิญความอับอาย เครียด กดดันอย่างหนัก ในขณะที่ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนที่นำไปสู่การนัดพบกันในชีวิตจริง ก็อาจนำไปสู่การก่อเหตุข่มขืน ข่มขู่ รีดไถ และฆาตกรรมได้
ภาพ : กรณีแฟนคลับนักร้องสาวโพสต์รูปคู่พร้อมข้อความคุกคามทางเพศ
“คนที่ใช้สื่อออนไลน์ ต้องระมัดระวังก่อนที่จะพิมพ์ การใช้คำพูด หรือแสดงความคิดเห็นอะไรลงไป ในโลกของความเป็นจริงเราไม่สามารถไปพูดจาในลักษณะการแทะโลมกับผู้อื่นได้ และในโลกออนไลน์คุณก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้นเราควรเคารพสิทธิ ให้เกียรติผู้อื่นด้วย และไม่ควรฉวยโอกาสใช้สื่อเพื่อละเมิดหรือคุกคามผู้อื่น” คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว
นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต แนะนำว่าวิธีป้องกันที่ดีที่สุดเลยก็ คือ การที่เราใช้อินเตอร์เน็ตควรใช้อย่างมีสติ และระมัดระวังตัวให้มากที่สุด ไม่ควรส่งข้อมูลส่วนตัว หรือส่งภาพส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศของเราไปให้คนอื่น เพราะอาจจะทำให้เราเสียหายได้ โดยเราต้องระวังไว้เสมอว่าในโลกออนไลน์เราไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเขาเป็นใคร ต่อให้เรารู้จักเขา เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นเราควรตั้งสติในการใช้ เมื่อถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขู่ หรือโดนแอบถ่าย ให้เก็บหลักฐานไว้ ห้ามตอบโต้เขา เพื่อแจ้งกับผู้พัฒนาระบบ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินกฎหมาย เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อไป
Cyber Sexual Harassment เข้าข่ายความผิดอะไรบ้าง?
ปัจจุบันยังมีบทกฎหมายที่กำหนดเรื่องการเอาผิดกับผู้กระทำผิดเรื่องลวนลามทางเพศในสังคมออนไลน์ ว่าด้วย พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 ข้อ (4) ที่กล่าวไว้ว่า การนำข้อมูลที่มีลักษณะอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทำดังกล่าวถือว่า มีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา สำหรับในส่วนของประมวลกฎหมายอาญาที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ คือมาตรา 59 วรรคสอง กล่าวถึงเรื่องเจตนา ว่า ผู้กระทำความผิดรู้อยู่แล้วว่า การกระทำของตน (โพสต์ข้อความในเชิงลามก) จะส่งผลอะไรต่อผู้ถูกกระทำนั้นบ้าง และมาตรา 397 กล่าวไว้ว่า บุคคลใดที่กระทำการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่นจนได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณภาพจาก มติชน
‘หากคุณไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น คุณก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้คนอื่นเคารพสิทธิส่วนบุคคลของคุณด้วยเช่นกัน’
ทั้งนี้ เราก็ควรระมัดระวังในการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ที่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เราถูกคุกคาม สำหรับผู้ที่เคยมีประสบการ์ถูกคุกคามทางเพศทางสื่อออนไลน์ ก็สามารถออกมาแชร์ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อที่จะได้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้อื่นได้ด้วย ดังนั้นควรแสดงให้เห็นว่าเราไม่ควรนิ่งเฉย มันเป็นเรื่องผิดปกติที่สังคมเราไม่ควรยอมรับกับเรื่องแบบนี้ แล้วเราควรดำเนินการทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
เรื่อง : ธิดารัตน์ ม่วงเกตุ