วันที่ 27 ส.ค. 62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนด ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยกรณีนี้เป็นคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชน
ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนแล้วแต่การถวายสัตย์จะต้องดำเนินการด้วยถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ให้ครบถ้วนด้วย
ซึ่งในข้อเท็จจริงปรากฏว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กล่าวการถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ไม่ครบ เพราะขาดถ้อยคำที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้...”
จึงส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินทการดำเนินนโยบายต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหากระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชน อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการดำเนินนโยบายต่างๆที่อาจเป็นโมฆะได้ จึงยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป แต่ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีคำขอให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
ส่วนกรณีคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองวินิจฉัยกรณีเดียวกันนั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองพิจารณา เพราะเห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าวเป็น “การกระทำ” ไม่ใช่เป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” จึงไม่มีประเด็นที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ขอให้ส่งศาลปกครองพิจารณานั้น เห็นว่า เมื่อคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตามคำร้องเรียนนั้น เป็นการกระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่เป็นการกระทำทางปกครองและมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผู้ตรวจการแผ่นดินถกคำร้องถวายสัตย์ 27 ส.ค. ยันไม่มีใครมากดดันได้
+ อ่านเพิ่มเติม