กยศ.เตรียมออกมาตรการช่วยนักเรียนที่ครอบครัวมีบัตรคนจน กู้ได้สิทธิพิเศษ พร้อมออกมาตรการประนีประนอมใหม่ หวังเพิ่มเงินกลับเข้ากองทุน ระบุหลังหักหนี้ผ่านบช.เงินเดือนขรก.-เอกชน ทำเงินคืนเพิ่ม 420 ล้านบาทต่อเดือน มั่นใจสิ้นปีมีเงินกองทุน 3 หมื่นล้านบาท ช่วยนักเรียนได้ 6 แสนราย
(5 ก.ค.62) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้เปิดเผยว่า กยศใ กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยและถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้สิทธิพิเศษในการกู้ยืม ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. มีการเน้นการช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนที่มีครอบครัวขาดเเคลนทุนทรัพย์ และกลุ่มที่ต้องการศึกษาที่เป็นต้องการของตลาด ทั้งการลดอัตราดอกเบบี้ย และการกู้ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งในส่วนของนักเรียนที่ครอบครัวมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย แต่ก็จะขอพิจารณาความเหมาะสมก่อน
ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้รวมทั้งหมดประมาณ 2.09 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ ถูกดำเนินคดีแต่ละปีมีประมาณ 1 แสนราย โดยในส่วนนี้ได้มีการประนีประนอม ในชั้นศาล ประมาณ 80,000 รายโดยในจำนวนนี้เมื่อมีการประนีนอมแล้วก็ยังมีการผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่ง กยศ. ได้มีการปรับเงื่อนไขสัญญาเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป กองทุนจะลดเบี้ยปรับในอัตรา 75% ของเบี้ยปรับที่มีอยู่ ณ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่การลดเบี้ยปรับนั้นมีเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมที่ตกลงทำสัญญาแล้วต้องไม่ผิดนัดชําระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป หากผิดนัดชำระในปีที่ 2 เป็นต้นไป กองทุนจะนำส่วนลดเบี้ยปรับกลับเข้ามาเป็นหนี้ตามคำพิพากษาทันทีและต้องเสียเบี้ยปรับ 7.5% ต่อปี ของเงินงวดที่ผิดนัด
โดย กองทุน กยศ. ให้โอกาสผู้กู้ในการผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 15 ปีนับตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แบ่งตามทุนทรัพย์ พวกเงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ รวมกันคงเหลือ ณ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งทุนทรัพย์ไม่เกิน 2.5 แสนบาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 9 ปี ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 2 แสน 5 หมื่น บาท ถึง 4 แสนบาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 12 ปี ส่วน ทุนทรัพย์มากกว่า 4 แสนบาทขึ้นไป ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยปกติที่คิด 1% ต่อปีของเงินต้นที่ค้างชำระ
ขณะเดียวกันจากมาตรการการหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ ที่เป็นข้าราชการ และเอกชน รวม 7.6 แสนราย ส่งผลให้กองทุนมีการชำรหนี้กลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ตกเดือนละ 420 ล้าน ต่อเดือน คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี กองทุนจะมีเงินสะสมรวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถช่วย นักเรียนมีทุนในการเรียนหนังสือได้ 600,000 รายในแต่ละปี
สำหรับจำนวนนักเรียนที่กู้ยืมเงินกองทุนในปัจจุบัน มีจำนวน 5.6 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 6.03 ล้านบาท แบ่งเป็นอยู่ระหว่างการศึกษา 5.98 แสนคน อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 3.78 แสนคน ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.02 ล้านคน อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.54 ล้านคน และอื่นๆ กรณีเสียชีวิตและทุพลภาพ 5.6 หมื่นคน ทั้งนี้ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.54 ล้านคนคิดเป็นมูลหนี้ 4.11 แสน ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ 7.3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.05 ล้านคน และถูกดำเนินคดีเเล้ว 1.03 ล้านคน
+ อ่านเพิ่มเติม