วันที่ 21 พ.ย. 61 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ถึงกรณีกระทงขนมปัง ที่หลายคนคงเลือกให้เป็นเลือกแรกๆ ในการนำไปลอยกระทงในวันพรุ่งนี้ โดย รศ.ดร.เจษฎา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “กระทงขนมปัง” คือ กระทงที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ควรหลีกเลี่ยงถ้าคิดจะลอยคืนพรุ่งนี้นะ
ถ้ายังตัดใจเลิกลอยกระทงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้หลีกเลี่ยงความเชื่อผิดๆ เรื่อง “ลอยกระทงขนมปังเพื่อสิ่งแวดล้อม” ครับ กระทงขนมปังเนี่ย ทำน้ำเน่าเสียมากกว่าอย่างอื่น เพราะกระทงขนมปัง มันเป็นสารอินทรีย์ ลงน้ำก็ยุ่ยและเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตองหรือโฟมก็ไม่ได้ ปลาก็ไม่ค่อยกิน แล้วถ้ากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ให้น้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นอีก
ฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมท่านอื่นประกอบได้ครับ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า กระทงขนมปัง ถ้าใช้ลอยในแหล่งน้ำไม่ว่าจะเปิดหรือปิด ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นแหล่งน้ำปิดแล้วมีบ่อปลา ก็จะสามารถใช้ได้ จะมีประโยชน์ เพราะปลาสามารถกินขนมปังได้ แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำปิดแล้วไม่มีบ่อปลา จะอันตรายต่อสภาพน้ำ เพราะขนมปังจะเกิดการยุ่ย และทำให้น้ำมีค่าบีโอดี หรือค่าสารอินทรีย์สูง ไม่สมควรนำมาลอย
ดร. อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า สำหรับกระทงขนมปังถึงจะย่อยสลายได้ แต่ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าได้ เพราะขนมปังเป็นประเภทสิ่งที่เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งสารอินทรีย์ก็คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โดยธรรมชาติหากสารอินทรีย์พวกนี้ลงไปอยู่ในแม่น้ำ มันก็จะมีจุลินทรีย์พวกแบคทีเรียมากินเป็นอาหาร หากปริมาณของสารพวกนี้ไม่มากนักไม่ถือว่าส่งผลเสียเพราะมันก็จะเปลี่ยนแป้งไปเป็นคาร์บอนไดออกไซต์ หากใช้กระทงขนมปังลอยน้ำในปริมาณมาก ขบวนการนี้ก็จะมีดึงออกซิเจนในน้ำมาใช้ เมื่อใช้ออกซิเจนในน้ำมากไปจะกลายเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียได้
+ อ่านเพิ่มเติม