เรื่องราวที่สะท้อนความสำเร็จของคน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกิดขึ้นจริง เป็นความสุขจริง ความสำเร็จจริง เปรียบเหมือนทุกความสุข และความสำเร็จของโครงการของ กฟผ. เป็นเหมือนการนำแสงสว่างไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย
“แสงสว่างเกิดขึ้นได้ทุกที่ ถ้าเราร่วมมือกัน”
โครงการต่างๆ ของ กฟผ. นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของภารกิจ กฟผ. ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการชีววิถีใต้แนวสายส่ง โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ กฟผ. โครงการแว่นแก้ว โครงการเขื่อนสิรินธรโมเดล โครงการปลูกป่า และโครงการที่ทำให้เกิดสถาบันการศึกษาเฉพาะทางอย่างวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการแม่เมาะ และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเปรียบเป็นแสงสว่างได้หลายอย่างด้วยกัน
“แสงแห่งปัญญา”
กฟผ. เห็นว่าการมอบอะไรให้ใครสักคนจะมีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับการมอบความรู้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ฯ กฟผ. ที่มองเห็นปัญหาของคนชายขอบซึ่งขาดแคลนกำลังทรัพย์ และจัดตั้งโครงการเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ไปจนจบปริญญา โดยพนักงาน กฟผ. ที่เข้าร่วมโครงการจะทำการส่งเสริมค่าเล่าเรียนให้เด็กคนนั้น เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองที่คอยเอาใจใส่ในด้านการศึกษาจนประสบความสำเร็จในที่สุด
“ความหวัง” ในที่ห่างไกล
“บ้านเราอยู่ชายแดน ความหวังที่จะเรียนจบชั้นสูง ๆ ก็ดูห่างไกลเหมือนที่ที่เราอยู่ อุปกรณ์การเรียนก็ไม่ค่อยมี ทุนการศึกษาที่ได้จะมาช่วยเติมเต็มตรงนี้”
คุณศุภาษิตา ลุงหม่อง หญิงสาววัย 27 ปี จากบ้านเปียงหลวง ใน จ.เชียงใหม่ บอกเล่าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กบนพื้นที่สูงซึ่งส่วนใหญ่มักไปไม่ถึงฝันเพราะความยากจน ส่วนเธอโชคดีที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอด 6 ปี ตั้งแต่ชั้น ม.6 จนจบปริญญาตรี เพื่อใช้เป็นค่ารถและค่าใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างเรียน ปัจจุบัน คุณศุภาษิตา กลับมาเป็นครูสอนนาฏศิลป์ที่โรงเรียนบ้านเปียงหลวงบ้านเกิดของเธอ ด้วยความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งไทใหญ่ ลีซอ และม้ง รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนต่อ ส่งเสริมโอกาสด้านการศึกษาให้กับเด็ก ๆ บนพื้นที่สูง นำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต
“ทุนการศึกษาที่เราได้ถึงจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นเหมือนแสงสว่างที่จุดประกายความหวังทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ชายแดนในชั้นที่สูงขึ้น สร้างโอกาสให้พวกเราได้มาก”
“แสงแห่งโอกาส”
คงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกคนไม่มีปัญหาทางสายตา สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น และมองเห็นความสุขในที่ต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่บางคนที่อยู่ห่างไกล ยังคงรอโอกาสอย่างมีความหวัง ด้วยสายตาที่เลือนลาง ด้วยเหตุนี้ โครงการแว่นแก้ว กฟผ. ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับธนาคารแว่นตาโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และ บริษัท หอแว่น กรุ๊ป จำกัด จึงได้ขยายพื้นที่บริการ เพื่อมอบแสงสว่างให้ดวงตา สร้างความหวังแห่งการมองเห็นให้คนไทย ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้วัดสายตาประกอบแว่นให้พี่น้องประชาชนผู้ด้อยโอกาส โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และขยายพื้นที่ในการให้บริการไปได้กว่า 61 จังหวัด ทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสายตาแล้วกว่า 260,800 คน และจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่ง กฟผ. ภูมิใจที่ได้มอบแสงสว่างให้กับชีวิตของทุกคน และมีโลกที่สดใสและมีความสุขที่มากกว่าเดิม
“แสงแห่งอาชีพ”
จะมีอะไรดีไปกว่า การที่คนๆ นึง ได้เรียน ได้ใช้ชีวิต ได้ทำงานในบ้านเกิดที่เขารัก นายจตุภูมิ หาลือ ฉายา สี่พยัคฆ์ นักมวยผู้เจนสังเวียน ที่รูปแบบชีวิตได้เปลี่ยนไปหลังจากได้ศึกษาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ. แม่เมาะ ซึ่งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเพียงแห่งเดียวที่สอนด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกงานในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากของจริง โดยได้การดูแลเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ กฟผ. ที่มีประสบการณ์ ทำให้อดีตนักมวย ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ด้านงานช่าง สามารถสอบเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. จ.ลำปาง ได้สำเร็จสมกับที่ตนเองและครอบครัวตั้งใจ และได้ต่อยอดองค์ความรู้สู่อาชีพที่ตัวเองรัก และพัฒนาบ้านเกิดไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
“โครงการปลูกป่า กฟผ.”
“บ้านของหนู เป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ปากแม่น้ำบางปะกง ไม้ไผ่มากมายที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงหอยแมลงภู่จะถูกน้ำพัดลอยมาติดที่นี่จนกลายเป็นขยะ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ป่าชายเลนของชุมชนเสื่อมโทรม”
นี่คือคำบอกเล่าของน้องผักกาดและน้องน้ำฝน เด็กสาวที่เกิดและเติบโตในชุมชนบ้านปากคลอง ต.คลองตำหรุ จ.ชลบุรี ถึงสภาพชุมชนในอดีต เมื่อป่าชายเลนเสื่อมโทรม สัตว์น้ำลดจำนวนลงเพราะขาดแหล่งอนุบาล ทำให้คนในชุมชนที่ทำประมงพื้นบ้านก็ขาดรายได้ไปด้วย
‘วิกฤตขยะ’ สู่ ‘กระบอกเพาะกล้า’
คนในชุมชนจึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นำไม้ไผ่จากสุสานขยะมาทำแนวชะลอคลื่น ที่เหลือก็นำมาทำเป็น “กระบอกเพาะกล้า” แทนถุงเพาะชำ (ถุงดำ) โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้งธนาคารต้นกล้าป่าชายเลนตามรอยพ่อ นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ จากนั้นก็นำโคลนใส่กระบอกไม้ไผ่จนเต็มแล้วจึงปัก ฝักโกงกางลงไป เพาะชำไว้ประมาณ 3 - 4 เดือน จึงนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้นกล้ามีอัตรารอดสูงถึงร้อยละ 80 เพราะเพรียงจะมาเกาะที่กระบอกไม้ไผ่ ไม่กัดกินกล้าไม้ เมื่อป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ีดีขึ้นด้วย