22 กันยายนของทุกปี จัดเป็นวันอนุรักษ์แรดโลก เพื่อตอกย้ำ และแสดงให้ตระหนักถึงการลดลงของจำนวนประชากรของแรด ที่มีสาเหตุหลักมาจากการล่าของมนุษย์
นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา วันที่ 22 กันยายนของทุกปี จัดเป็นวันอนุรักษ์แรดโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากฝีมือมนุษย์ จากการลักลอบล่าเพื่อนำแรดไปแปรรูป เช่น เอาไปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ ซึ่งแรดจัดเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากช้าง โดยประชากรแรดมีแนวโน้มลดลงทุกปี
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) ประจำประเทศไทย รายงานข้อมูลล่าสุดว่า แรดสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธ์ที่สุดคือ สายพันธุ์ แรดชวา ปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่สำรวจได้เพียง 44 ตัวเท่านั้น อาศัยอยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน บนเกาะชวา ของอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งแรดชวานั้นเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยและเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
โดยตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ถูกสังหารไปเมื่อปี 2553 ที่ประเทศเวียดนาม ส่วนแรดสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างแรดอินเดีย มีประชากรราว ๆ 3,300 ตัว แรดดำ 5,000 ตัว และแรดขาว 20,400 ตัวทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยแรดจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน มีหลักฐานพบแรดป่าสองสายพันธุ์ ได้แก่ แรดชวา และแรดสุมาตรา (กระซู่) ซึ่งทั้งสองชนิดสูญพันธุ์แล้วในประเทศไทย จากหลักฐานชิ้นสุดท้ายเมื่อปี 2540 ได้พบร่องรอยของกระซู่บริเวณป่าฮาลา-บาลา ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส แต่ไม่มีใครพบตัวมัน โดยคาดว่าอาจหลบหนีนายพรานไปยังมาเลเซีย และถูกฆ่าในที่สุด
+ อ่านเพิ่มเติม