ศูนย์เฉพาะกิจฯ แจ้งเตือน 5 อำเภอเพชรบุรี เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 5 เขื่อน
logo ข่าวอัพเดท

ศูนย์เฉพาะกิจฯ แจ้งเตือน 5 อำเภอเพชรบุรี เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 5 เขื่อน

ข่าวอัพเดท : ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุโซนร้อน เซินติญ เบบินคา มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ด้านศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ แจ้งเต ศูนย์เฉพาะกิจฯ,เพชรบุรีน้ำท่วม,สถานการณ์น้ำ,เร่งระบายน้ำ,เขื่อนแก่งกระจาน,เขื่อนน้ำอูน,เขื่อนวชิราลงกรณ,เขื่อนขุนด่านปราการชล,เขื่อนปราณบุรี

2,168 ครั้ง
|
22 ส.ค. 2561
ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุโซนร้อน เซินติญ เบบินคา มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ด้านศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ แจ้งเตือน 5 อำเภอเพชรบุรี เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม
 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยประจำวันที่ 22 ส.ค. หลังอิทธิพลพายุโซนร้อนเซินติญ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 32 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน 149,831 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่จังหวัดสกลนคร และชุมพร โดยสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 29 จังหวัด คงเหลือ 3 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือ นครพนม บึงกาฬ และเพชรบุรี 
 
นอกจากนี้ยังมี 8 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน เบบินคา ตั้งแต่ 17-21 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ทำให้ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ทั้ง น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ และหนองคาย มีประชาชนได้รับผลกระทบ 12,032 ครัวเรือน 40,157 คนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทั้งหมด 
 
ด้านศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ว่าแม่น้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีระดับน้ำน้อย ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคใต้ มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก โดยต้องเฝ้าระวังที่แม่น้ำเพชรบุรี ที่ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ตามปริมาณน้ำที่ล้นอาคารระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมตอนล่าง บริเวณสุโขทัย ที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงระดับน้ำสูงขึ้นจากฝนตกหนักในลาว และแนวโน้มระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้น โดยล้นตลิ่งที่หนองคาย และต้องเฝ้าระวังที่ นครพนมและอุบลราชธานี
 
พร้อมประกาศพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ จากการเร่งระบายน้ำ จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ใน 5 แห่ง คือเขื่อนแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมที่แม่น้ำเพชรบุรี ใน 5 อำเภอ จังหวัดเพชรบุรี ทั้ง แก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด เมือง และบ้านแหลม รวมถึงลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำนครนายก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัวเมืองเพชรบุรีไม่รอด มวลน้ำเอ่อท่วม คาดท่วมนาน 5-7 วัน (22 สิงหาคม 2561)  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง