ปภ. เผย 7 จว. ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงยังวิกฤต กำชับติดตามสถานการณ์ 24 ชม.
logo ข่าวอัพเดท

ปภ. เผย 7 จว. ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงยังวิกฤต กำชับติดตามสถานการณ์ 24 ชม.

ข่าวอัพเดท : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งประสาน 18 จังหวัด จุดเสี่ยงน้ำไหลหลากและดินถล่ม ขณะที่ 7 จังหวัดภาคอีสานฝั่งลุ่มน้ำโขงยังวิกฤต กำชั กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย,น้ำท่วม,ฝนตก,ติดตามสถานการณ์,ดินถล่ม

1,307 ครั้ง
|
02 ส.ค. 2561
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งประสาน 18 จังหวัด จุดเสี่ยงน้ำไหลหลากและดินถล่ม ขณะที่ 7 จังหวัดภาคอีสานฝั่งลุ่มน้ำโขงยังวิกฤต กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ฝนสะสม ตลอด 24 ชั่วโมง
 
 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้รายงานข้อมูลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วม โดยเฉพาะฝั่งลำน้ำโขงหลายจุดยังคงวิกฤต ล่าสุดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 7 จังหวัด คือ นครพนม - มุกดาหาร - อำนาจเจริญ - อุบลราชธานี - บึงกาฬ - สกลนคร และ ร้อยเอ็ด
 
พร้อมกันนี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ ในพื้นที่ จังหวัดหนองคาย เนื่องจากสถานการณ์น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วัดได้ 11.44 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 0.76 เมตร จากตลิ่งแม่น้ำโขงที่รับได้ 12.20 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำใกล้เข้าจุดวิกฤตแล้ว จึงขอให้ประชาชนเตรียมขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ขออย่าให้ตื่นตระหนก ให้รับฟังข่าวสารจากทางราชการเป็นหลัก
 
ขณะเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายจังหวัดมีฝนตกต่อเนื่อง จึงได้ประสาน 18 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม แยกเป็น 
 
พื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอแม่ลาน้อย),เชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) ลำปาง (อำเภอแจ้ห่ม),น่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอท่าวังผา) , ตาก (อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง) จันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฎ) , ตราด (อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง) รวมถึง ระนอง (อำเภอกะเปอร์) 
 
และ พื้นที่เฝ้าระวัง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ราชบุรี พังงา กระบี่ และสตูล 
 
โดยกำชับ พื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชั่วโมง หากฝนตกหนักถึงหนักมากและสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ขณะที่ประชาชนสามารถติดต่อแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง