พลตรีวุฒิชัย อิศระ แพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม กล่าวถึงการเตรียมการ ด้านการรักษาพยาบาลน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี และโค้ช ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ว่าคณะทำงานประกอบด้วย หน่วยแพทย์กองทัพภาคที่ 3 ทั้ง 10 โรงพยาบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข โดยกระบวนการรักษามี 3 ขั้นตอน ขั้นแรกเป็นขั้นเตรียมการ มีการหาข้อมูลความเจ็บป่วยของทั้ง 13 คน ประเมินจากน้ำหนัก อายุ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย
ขั้นที่สองคือ การวางแผนวิเคราะห์เหตุที่จะเกิด การขาดสารอาหาร ซึ่งแพทย์ได้เตรียมสารอาหารสำหรับบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อนนำออกมา เบื้องต้นเมื่อหน่วยค้นหาพบและให้การรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแล้ว ได้มีนักประดาน้ำคือ พันโทนายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือซีล ทำการประเมิน วางแผนเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาลสนาม
สำหรับเส้นทางเคลื่อนย้าย จะจัดทีมแพทย์ 13 ทีม ในหนึ่งทีมประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ด้านภาวะฉุกเฉิน พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล พลเปลขนย้ายผู้ป่วยจากปากถ้ำมาสู่รถพยาบาล เมื่อขึ้นรถจะมีแพทย์คนที่สองมาดำเนินการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าจะให้การรักษาอย่างไร โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อม ณ จุดรับผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือต้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้สวมแว่นตาดำ เนื่องจากเด็กอยู่ในที่มืดเป็นเวลานาน เมื่อออกมาสู่ที่มีแสงสว่าง รูม่านตาจะไม่ทนต่อการรับแสงจ้าชั่วคราว จากนั้นจะนำส่งขึ้นรถ 13 คน ใช้รถพยาบาล 13 คัน แต่ละคันจะมีแพทย์ดูแลคันละ 1 คน พาไปที่โรงพยาบาลสนาม ณ จุดคัดแยก มีแพทย์ พยาบาลดำเนินการคัดแยก 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก สีแดง ขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน สีเหลือง บาดเจ็บเล็กน้อย สีเขียว ไม่บาดเจ็บ หลังจากประเมินจะรักษาพยาบาลอีกครั้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและใส่อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานการรักษาสากล เพื่อให้เด็กมีร่างกายพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายต่อไป
โดยจัดทีมแพทย์คันละคนประกบตัวต่อตัวเพื่อนำส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์จากสภาพอากาศว่าจะสามารถนำส่งทางอากาศยาน หรือรถพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกาย อากาศ และเวลา ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทีมแพทย์จะตรวจรักษาร่างกายอย่างละเอียด และให้การรักษาจนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ
+ อ่านเพิ่มเติม