ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่นในสังคมไทยจากดราม่ารูป “จิ๊บ BNK48” โดยแพทย์ด้านสุขภาพจิต
logo ข่าวอัพเดท

ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่นในสังคมไทยจากดราม่ารูป “จิ๊บ BNK48” โดยแพทย์ด้านสุขภาพจิต

ข่าวอัพเดท : เป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลัง “จิ๊บ BNK48” หรือ น.ส.สุชญา แสนโคต โพสต์ข้อความชวนสะอึก “ขอโทษนะคะที่ไม่ได้หน้าตาดี” ในภา ดราม่า จิ๊บ BNK48,จิ๊บ BNK48 Bullying,จิ๊บ BNK48,Cyberbullying,Bullying,รูป จิ๊บ BNK48

28,644 ครั้ง
|
18 มิ.ย. 2561
เป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลัง จิ๊บ BNK48 หรือ น.ส.สุชญา แสนโคต หนึ่งในสมาชิกวงไอดอลสาวชื่อดังอย่าง BNK48 โพสต์ข้อความชวนสะอึก ขอโทษนะคะที่ไม่ได้หน้าตาดี ในภาพถ่ายของเธอบนแฟนเพจส่วนตัวเมื่อคืนวานนี้ (17 มิ.ย. 2561) จนมีผู้ใช้ Facebook มากดแสดงความรู้สึกต่างๆ ให้กับข้อความของเธอแล้วเกือบ 5 พันราย 
 
ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื
(ภาพโปรไฟล์ปัจจุบันบนเพจ Jib BNK48)
 
ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื
(ภาพที่มีผู้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์)
 
การโพสต์ข้อความดังกล่าวมีขึ้นหลังจากชาวเน็ตส่วนหนึ่งเข้าไปวิจารณ์ภาพถ่ายดังกล่าว ซึ่งถ่ายไว้ขณะเปิดตัวกับวง BNK ใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะการวิจารณ์หรือล้อเลียนใบหน้าของเธอ แต่ก็มีชาวเน็ตอีกหลายคนที่เข้าไปให้กำลังใจไอดอลสาวเช่นกัน อาทิ
 
 "สู้ๆนะ อย่าไปสนใจ คำที่บั่นทอนจิตใจของเรา"
"สังคมแห่ง bully ที่แท้จริง สู้ๆนะน้องจิ๊บ พี่รอดูพัฒนาการอยู่ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุดแล้ว พยายามเข้า สู้ให้สุดให้เหมือน โอกิโนะ ยูกะ นะน้อง Fighto~"
 
หรือเพจแฟนคลับอย่าง "BNK48 : For Muggles" ก็เขียนโพสต์ระบุว่า "อยากบอกน้องว่า สำหรับเราแล้วทุกคนมีความงามของตัวเองครับ และสิ่งที่น้องพยายามในฐานะ BNK48 นั้น มันทำให้พวกเราเห็นความงามของน้องแล้ว และเอาจริงๆ น้องอยู่ในวัยกำลังโต เราว่าพอโตขึ้น ความสวยของแต่ละคนมันออกมานะ และเราว่าน้องสวยขึ้นจริงๆ น้องมีสิ่งที่สวยงามอยู่กับตัวแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องขอโทษใครแต่อย่างใด"
 
 
ขณะที่บางรายก็โจมตีการวิจารณ์รูปร่างหน้าตาดังกล่าว อาทิ
 
"นี่แหละ วัดค่าของคนที่ภายนอก ไม่ได้วัดกันด้วยความสามารถ ด้วยความที่ภาพลักษณ์ไม่ได้สวยงาม ก็เลยด่าออกรสกันเมามัน ไม่นึกถึงจิตใจเด็กผู้หญิงคนนึงเลยว่าถ้ามาอ่านคอมเม้นแบบนี้แล้วจะรู้สึกยังไง ขอแค่แซะให้สนุกปาก"
 
"คนเดี๋ยวนี้ถ้าหน้าตาไม่ดีก็โดนbullyแล้วอะ ละบางคนคือเม้นแชร์แบบไม่มีมารยาทมาก วิจารณ์หน้าตาคนอื่นแบบไม่เกรงใจอะไรเลย ในหัวก็คิดแต่ความสนุก คิดว่าตัวเองเป็นคนตรงๆคิดจะพูดอะไรก็พูด เติมโปรเน็ตไว้บุลลี่คนอื่นงี้หรอ ถามจริงๆถ้าโดนมั่งจะรู้สึกยังไงอะ #ไม่ได้เป็นโอตะค่ะ เข้าใจว่าบางคนไม่ได้ซีเรียส เล่นๆขำๆ แต่ลองนึกถึงความรู้สึกน้องหน่อยนะคะ อยู่ๆโดนคนไม่รู้จักเม้นรูปโปรเฟสแบบนี้ซึ่งทำอะไรไม่ได้เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นคนของสังคมไม่ควรตอบโต้ ถ้าเป็นพวกคุณโดนมั่ง คุณไม่เสียใจหรอคะ" เป็นต้น
 
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์พูดคุยกับ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจัดว่าเป็นการวิจารณ์หรือกลั่นแกล้งในเรื่องรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ บุพการี หรือประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัว พฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่าการกลั่นแกล้งหรือรังแก หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Bullying" 
 
นพ.ยงยุทธระบุว่าการกลั่นแกล้งเหล่านี้ในอดีตมักจะทำผ่านทางวาจา และมักจะเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอย่างสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรืออินเตอร์เน็ต ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกกันเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง แต่หลักการทางจิตวิทยาในเรื่องนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม
 
"จิตวิทยาในเรื่องการ Bullying จะแบ่งออกเป็นสองสาย สายแรกคือคนกลั่นแกล้ง และสายที่สองคือคนที่ถูกกลั่นแกล้ง เขามีการศึกษาทางจิตวิทยาแล้วพบว่าคนที่ไปกลั่นแกล้งผู้อื่น ตัวเองก็มักจะมีปัญหา ซึ่งคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ คนที่มีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่มั่นคงเขาจะไม่กลั่นแกล้งใคร ฉะนั้นคนที่ไปกลั่นแกล้งคนอื่นตัวเองก็มีปม และการมีปมของตัวเองก็ใช้คนอื่นเป็นเหมือนเครื่องรองรับอารมณ์ของตัวเอง" นายแพทย์ทรงคุณวุฒิจากกรมสุขภาพจิตระบุ
 
อีกสายหนึ่งคือกลุ่มคนที่ถูกกลั่นแกล้ง ก็มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย เพราะก็จะรู้สึกว่าถูกทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
 
"แล้วบางราย อย่างในญี่ปุ่นก็มีถึงขั้นเก็บตัว ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย" นพ.ยงยุทธกล่าว
 
คุณหมอยงยุทธยังอธิบายต่อไปว่า โดยปกติ Bullying จะเน้นในเรื่องส่วนตัว เช่น เรื่องรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ พ่อแม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องศาสนา เชื้อชาติ เพศ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง แบบนี้จะถูกเรียกว่าคำพูดสร้างความเกลียดชัง หรือ "Hate Speech" ซึ่งไม่ได้โจมตีไปที่แค่ตัวบุคคลแล้ว แต่เป็นการโจมตีในระดับกลุ่มนั่นเอง
 
ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื
 
"อย่างเหลืองด่าแดง แดงด่าเหลือง เป็น Hate Speech ไปดูถูกคนพิการ ไปดูถูกผู้หญิง อย่างนี้เป็น Hate Speech ซึ่ง Hate Speech นี่มันจะอันตรายมากกว่า เพราะมันขยายพรมแดนจากเรื่องส่วนตัวไป และมันก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นว่าขาดความใจกว้าง 
 
"คือเรื่อง Hate Speech มันจะไม่เหมือน Bullying เพราะ Bullying มันจะเหมือนปมในตัวเราเอง แต่ถ้าเป็น Hate Speech จะหมายถึงสังคมมีปัญหาในเรื่องชุดความคิด ในเรื่องการมอง เพราะหนึ่ง สังคมควรจะเคารพความแตกต่าง สอง เขาถือว่าความแตกต่างมันเป็นทรัพย์สิน (asset) ของสังคม เช่น หากคุณพิการทางสายตา คุณจะมีความสามารถด้านอื่นสูงหรือขยายตัวขึ้น หรือการที่คุณมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้มีนโยบายที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น อันนี้ก็ถือเป็นทรัพย์สิน แต่พอคุณใช้ Hate Speech มองเป็นแมลงสาบ มองเป็นควายปุ๊บ มันยุ่งเลย"
 
อย่างไรก็ตาม นพ.ยงยุทธมองว่าการมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งมากๆ ไม่ได้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง เพราะการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปมเฉพาะบุคคล ส่วนคำพูดสร้างความเกลียดชังจะมีเรื่องชุดความคิดเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผลการศึกษาก็ไม่เคยพบว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่อาจจะมีคนบางส่วนที่กลั่นแกล้งผู้อื่นแล้วโดดเด่นขึ้นมา เพราะอาจจะถนัดในการใช้คำพูดหรือวิธีการที่เชือดเฉือนอยู่ในบุคลิก เป็นต้น
 
ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื
 
คุณหมอยังเล่าว่าการกลั่นแกล้งรังแกกันเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่ในวัยที่พบได้บ่อยที่สุดคือช่วงวัยรุ่น ซึ่งก็จะมีการเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงประถม แล้วก็อาจจะยังมีพฤติกรรมแบบนี้ต่อไปได้จนถึงช่วงวัยทำงาน และในวัยผู้สูงอายุก็จะพบได้น้อย
 
ซึ่งทีมข่าวก็พบข้อมูลอีกส่วนหนึ่งจากผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดที่พบว่า ปัจจุบันมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้ การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในปี 2553 พบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกว่าเคยถูกคนอื่นรังแก
 
ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื
 
นพ.ยงยุทธบอกว่าทั่วโลกจะมีแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนอยู่แล้ว การไม่จัดการปัญหาดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าโรงเรียนแห่งนั้นไม่มีระบบที่ดีในการดูแลนักเรียน
 
"การที่โรงเรียนปล่อยให้เด็กแกล้งกันได้ ถูก Bully ได้ แสดงว่าระบบของโรงเรียนในการดูแลเด็กไม่ดี เพราะว่าทั้งสองฝ่ายมีปัญหาสุขภาพจิตทั้งคู่ คนที่ไป Bully คนอื่นก็มีปัญหา แสดงว่าเป็นคนควบคุมความก้าวร้าวได้ไม่ดี ตัวเองก็มีปมในตัวเอง คนถูก Bully ก็กลายเป็นคนที่มีปัญหาไปด้วย เพราะวัยวุฒิเขายังไม่ถึงที่จะรับมือกับปัญหานี้ได้ สำหรับเด็กมันยากกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้นเด็กเหล่านี้ก็จะมีปัญหาไปด้วย"
 
"ครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาทุกคนก็ควรจะรู้ว่าเด็กในห้องของตัวเอง ใครบ้างที่ไป Bully คนอื่น หรือถูกคนอื่น Bully ก็ต้องจัดการ ให้เด็กมาคุย แก้ปัญหา เรียกผู้ปกครองมาคุย หรือพูดในชั่วโมงโฮมรูมว่าการทำแบบนี้มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี โรงเรียนไม่สนับสนุน"
 
 

ข่าวอัพเดท : ทำความเข้าใจพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื

คุณหมอยืนยันว่าคนที่คิดจะกลั่นแกล้งผู้อื่นควรจะคิดว่าตัวเองมีปัญหาอะไรหรือเปล่า แล้วหันไปแก้ปมของตัวเอง ดีกว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน
 
แล้วคนที่กำลังถูกกลั่นแกล้งรังแกควรจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไรดี?
 
"อย่าไปรับรู้สื่อมาก เพราะยิ่งรับรู้มากก็ยิ่งทำให้ใจเราไขว้เขว เราก็ไม่สนใจซะ เปรียบเทียบว่าคนถ่มน้ำลายขึ้นไปข้างบน มันก็ตกลงมารดหน้าตัวเอง เราก็ไม่สะเทือนอะไร ถ้าเราไปสะเทือนปั๊บเนี่ย หนึ่งคือเราก็จะได้รับผลทางสุขภาพจิต สอง อีกฝ่ายหนึ่งเขาก็ดีใจว่าสิ่งที่เขา Bully ได้ผล
 
หัวใจสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้มแข็งเข้าไว้ เราก็จะพยายามให้กำลังใจกับผู้ที่ถูก Bully ว่าคุณค่าของเราไม่เปลี่ยนแปลงเพราะคำพูดของผู้อื่น หรือถ้าหยาบคายหน่อยก็คือ คุณค่าของเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะน้ำลายของผู้อื่นนั่นเอง" คุณหมอยงยุทธสรุป
 

(ภาพ : Facebook Page "Jib BNK48", กรมสุขภาพจิต, มติชน)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศธ.360 องศา : 'การบูลลี่' ปัญหาของเด็ก Gen Z
4,265 ครั้ง
ข่าว..เช้าวันหยุด
11 ม.ค. 2563