"แม่ทัพภาค 4" ระบุรู้ตัวผู้ก่อเหตุความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อคืนแล้ว เชื่อเป็นกลุ่มเดิมกับที่เคยก่อเหตุ 5-6 ปีก่อยน ขอประชาชนถอดหมวกกันน็อกเมื่อไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ขณะนักวิชาการเชื่อกลุ่มก่อเหตุต้องการแสดงศักยภาพ
(คลิปข่าวจากรายการ 21 พ.ค.61)
;
จากกรณีที่กลุ่มก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เมื่อคืนวันที่ 20 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา โดยพบว่ากลุ่มคนร้ายมุ่งหมายจุดก่อเหตุที่เป็นตู้ ATM ของธนาคารต่างๆ และระเบิดที่ประกอบนั้นตรวจสอบแล้วไม่มีสะเก็ดระเบิด โดยรายงานจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่ากลุ่มคนร้ายต้องการแสดงศักยภาพว่าสามารถก่อเหตุในเขตพื้นที่ชุมชนและย่านเศรษฐกิจแม้จะมีการวางมาตรการคุมเข้ม เพื่อลดความเชื่อมั่นต่อมาตรการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้ยังมีการรายงานความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเนื่องจากต้องรอผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานทั้งดีเอ็นเอและภาพจากกล้องวงจรปิดจากจุดเกิดเหตุ
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การก่อเหตุในครั้งนี้คาดว่าคนร้ายต้องการแสดงตัวตนให้รู้ว่าเขากลับมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ก่อเหตุเก่าที่เคยก่อเหตุลักษณะแบบนี้กับตู้ ATM และหายไปเมื่อช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกจับกุมและดำเนินคดีไปหมด ทำให้ไม่ค่อยมีเรื่องเกิดขึ้นอีก แต่ตอนนี้ได้กลับมาอีกครั้งและมุ่งเป้าการก่อเหตุไปที่ตู้ ATM เพียงอย่างเดียวพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"มันเหมือนเป็นสิ่งต้องการบอกเหตุให้ได้รู้ว่าเขากลับมาอีกแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็ต้องมีการเข้มงวดขึ้นให้มากกว่าเดิม" พล.ท.ปิยวัฒน์ระบุ
พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการนั้นตนได้พูดคุยกับฝ่ายทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองแล้ว โดยจะมีการหารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องของการสวมหมวกกันน็อกของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ว่าต่อไปเมื่อใครขับรถจักรยานยนต์แล้วจอดลงเดิน จะต้องถอดหมวกกันน็อกวางไว้ที่รถทุกคน หากไม่วางก็จะต้องมีความผิดอย่างไรนั้นก็จะต้องไปคุยกับนักกฎหมายอีกครั้ง เพาะเป็นเรื่องของการสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนจึงจำเป็นต้องทำ
ดังนั้นตนจึงขอความร่วมมือประชาชนว่าเมื่อลงจากรถจักรยานยนต์แล้วให้ถอดหมวกกันน็อกไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็ตาม โดยในช่วงแรกอาจจะเป็นการเตือนและจะมีการออกเสียงตามสายทางวิทยุ การปิดป้าย รวมถึงการให้ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรับช่วยเตือนในช่วงแรกๆ เพื่อสร้างความปลอดภัย อาจจะถือไปด้วยก็ไม่ว่า ส่วนเรื่องรายละเอียดนั้นจะต้องมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการก่อเหตุในช่วงเดือนนี้ที่เป็นเดือนรอมฎอน ที่ทุกคนมุ่งหวังจะสร้างสันติสุขกลับมา การก่อเหตุช่วงนี้มีนัยยะอะไรหรือไม่นั้น แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่าคงไม่มีนัยยะอะไร เพียงคนร้ายต้องการแสดงตัวตนให้รู้ว่ากลับมาอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อกลับมาแล้วเราก็จะต้องเจอกันอีกและพอจะรู้แล้วว่าเป็นใคร
"รู้ชื่อและหน้าตาแล้ว แต่ขอไม่เปิดเผยและเก็บไว้ก่อนและขอให้ได้หลักฐานมาก่อน ซึ่งก็เป็นคนเก่าๆ ที่เคยทำกันอยู่และเราก็จะใช้วิชาเดิมๆ แบบตำรวจว่าเคยเกิดเหตุมาแล้วเมื่อ 5 – 6 ก่อนและก็ถูกจับเข้าคุกมาแล้ว วันนี้ก็มาทำอีก คงตามหาตัวไม่ยาก" พล.ท.ปิยวัฒน์ระบุ
พล.ท.ปิยวัฒน์ระบุเพิ่มเติมว่า เดือนนี้เป็นเดือนอันบริสุทธิ์ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้เดือนนี้ปราศจากภัยอันตราย ให้มีความปลอดภัยและไม่อยากให้คิดเฉพาะเดือนนี้ อยากขอทั้ง 12 เดือนให้ทุกคนมีความสุขปราศจากอันตราย เหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจทำให้ประชาชนตกใจบ้างแต่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็พยายามทำให้ดีที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานียอมรับว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนมักมีการก่อเหตุถี่ขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ระมัดระวังอยู่ แต่ที่ผิดปกติคือครั้งนี้เกิดช่วงต้นรอมฎอนจากที่ปกติมักเกิดถี่ช่วง 10 วันสุดท้าย
ผศ.ดร.ศรีสมภพวิเคราะห์ว่าผู้ก่อเหตุไม่น่าจะเป็นกลุ่มมารา ปาตานี ที่มีการพูดคุยสันติสุขกับทางการไทย เพราะเหตุการณ์นี้เน้นปฏิบัติการทางทหาร และมีเป้าหมายเพื่อส่งสัญญาณว่ากลุ่มตนยังมีศักยภาพในการก่อเหตุได้อยู่ และสามารถกำหนดพื้นที่ก่อเหตุได้ เป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่มีเจตนาทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบ จึงแทบไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ
เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกระทบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และการร่วมกันกำหนดเขตปลอดภัย (Safety Zone) บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะผู้เล่นหลักและเป็นกลุ่มใหญ่คือมารา ปาตานี และยังมีปัจจัยภายนอกอย่าง สถานการณ์ทางการเมืองในมาเลเซียมาเกี่ยวข้องด้วย