สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แจงกฎหมายควบคุมธุรกิจหอพักใหม่ ด้านผู้ประกอบการร้องกฎหมายไม่เป็นธรรม เตรียมฟ้องศาล
นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2555 สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เช่ากรณีสัญญาเช่าห้องพักไม่เป็นธรรมมาก โดยเฉพาะประเด็นค่าน้ำ-ค่าไฟแพงมาเป็นอันดับหนึ่ง และค่ามัดจำล่วงหน้า ที่เก็บหลายเดือนจนเกินไป จนเป็นที่มาของประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคาร เพื่อที่อยู่ อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 1 พฤษภาคม 2561 โดยประเด็นที่บังคับผู้ประกอบการหอพัก เน้นไปในเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามามาก คือ เรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ หอพักจะต้องเก็บไม่เกินหลวงเรียกเก็บ เพื่อไม่ให้ขัดกฎหมายของการไฟฟ้าและประปา ที่ไม่ให้ผู้อื่นนอกจากรัฐ ขายไฟฟ้า และน้ำประปา
ล่าสุดวันนี้(15 พ.ค. 61) ผู้ประกอบการมาร่วมฟังที่ห้องประชุมของมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย กว่า 500 ราย สอบถามว่า อุปกรณ์ และสายไฟฟ้า มีการเสื่อมไปตามสภาพการใช้งาน เดิมทีเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำเกินค่าน้ำไฟปกติ ไม่เท่ากัน แต่ไม่เกิน 20% เพื่อเป็นการซ่อมบำรุง หากไม่ให้เก็บเกินจะต้องหันไปเก็บป็นค่าส่วนกลางเพิ่ม ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เช่าที่ใช้ไฟฟ้าไม่มาก แต่กลับต้องจ่ายค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้นในอัตราเท่ากับผู้เช่ารายที่ใช้ไฟฟ้ามาก ซึ่งประเด็นค่าส่วนกลางไม่มีบังคับจากประกาศของสคบ. หมายความว่าผู้เช่าจะต้องรับภาระค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้นอยู่ดี
นอกเหนือจากนี้ ยังห้ามผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าประกันความเสียหายเกิน 1 เดือน ค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน ห้ามเรียกเก็บค่าต่อสัญญาและห้ามไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปในทรัพย์สินผู้เช่า หรือเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า กรณีผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างค่าเช่า จากเดิมผู้ให้เช่าอาจเข้าไปขนของออกจากห้องเช่า หรือล็อกห้องไว้ โดยต่อไปนี้ผู้ให้เช่าไม่สามารถเข้าไปไม่ได้ แต่ผู้ให้เช่าสามารถที่จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางกฎหมายได้ หลังจากยกเลิกสัญญาแล้ว และขอให้ศาลออกคำบังคับในการขนย้ายทรัพย์สิน
ประเด็นนี้ก็ถูกผู้ประกอบการหอพักสอบถามมาก เพราะมีเรื่องผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนด เดิมให้ผู้เช่าขนของออก หากไม่ออก ผู้ประกอบการขนออกมา และให้ผู้เช่าใหม่เข้าได้ทันที แต่หลังจากมีกฎหมายนี้ ผู้ประกอบการจะต้องไปฟ้องศาล และห้ามเปิดห้องที่ผู้เช่าอยู่ จนกว่าคดีจะเสร็จ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน ถึงจะขนของออก ให้ผู้เช่าใหม่เข้าได้ เป็นการทำให้ขาดรายได้
หากผู้ประกอบการฝ่าฝืน 1 สัญญามีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2561 สามารถใช้สัญญาเดิมได้จนกว่าจะเปลี่ยนผู้เช่ารายใหม่ และมีผลเฉพาะผู้ประกอบการที่มีห้องพักให้เล่าเกิน 5 หน่วยขึ้นไป
ซึ่งวันนี้ ผู้ประกอบการเตรียมรวมตัวกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเรื่องประกาศดังกล่าว ไม่เป็นธรรม และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบการต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม