DTAC เรียกร้องประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ใช้ราคาชนะประมูลหนก่อนเป็นขั้นต่ำ-ไม่เอาชุดคลื่นน้อยกว่าผู้ประมูล
logo ข่าวอัพเดท

DTAC เรียกร้องประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ใช้ราคาชนะประมูลหนก่อนเป็นขั้นต่ำ-ไม่เอาชุดคลื่นน้อยกว่าผู้ประมูล

ข่าวอัพเดท : นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ไตรเน็ต ได้ยื่นจดหมายข้อเสนอพร้อมทั้งแส DTAC,กสทช.,ประมูล,คลื่น 1800 MHz

3,154 ครั้ง
|
09 เม.ย. 2561
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ไตรเน็ต ได้ยื่นจดหมายข้อเสนอพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz แก่กสทช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การประมูลเดิม 
 
โดยประเด็นสำคัญที่ดีแทคเรียกร้องคือ ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558 เนื่องจากเป็นราคาที่สูงผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นจากการแข่งประมูลและผู้ที่ชนะประมูล (แจสโมบาย) ไม่สามารถชำระเงินค่าประมูลคลื่นได้ โดยมองว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ในคราวนี้จะประสบปัญหาด้านการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในคราวก่อน
 
นอกจากนี้เห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x15 MHz ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เนื่องจากความต้องการใช้คลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณคลื่นความถี่และย่านความถี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ความพร้อมทางการเงิน และแผนการให้บริการ การกำหนดใบอนุญาตขนาด 2x15 MHz จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีคลื่นความถี่เหลือจากการประมูลเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x5 MHz นั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้ 
 
รวมทั้งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเงื่อนไขการนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือที่เรียกว่า เงื่อนไข N-1 เพราะเงื่อนไข N-1 จะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 
 
และจากการที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก โดยขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินเกินกว่าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแบกรับไหว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง