พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาร่วมสอบปากคำนางคณิตา กรรณสูต (ภรรยาของนายเปรมชัย กรรณสูต) และนางวันดี สมภูมิ ผู้ที่ลงชื่อเซ็นรับรองในใบจดแจ้งงาช้างที่พบในบ้านของนายเปรมชัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบว่า เป็นงานช้างแอฟริกา ซึ่งไม่ตรงตามใบจดแจ้งที่ระบุว่าเป็นงาช้างใช้งานในประเทศ
เบื้องต้นจากการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองคนให้การปฏิเสธ โดยนางคณิตาอ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่างาช้างในครอบครองทั้งสี่กิ่ง เป็นงาช้างแอฟริกา จึงนำงาช้างทั้งหมดไปจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นช้างบ้านของประเทศไทย อีกทั้งงาช้างทั้งหมดยังได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากญาติ เมื่อปีพ.ศ.2524 ไม่สามารถหาเอกสารมายืนยันการมอบมรดกดังกล่าวได้ ในกรณีนี้พลตำรวจเอกศรีวราห์เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลตามคำให้การของผู้ต้องหาพบว่า เจ้าของงาช้างที่มอบให้ก่อนหน้านี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว และจากการตรวจสอบปีที่มอบให้ เท่ากับคดีขาดอายุความไปแล้ว แต่ผู้ต้องหาไม่สามารถนำประเด็นดังกล่าวมาโต้แย้งได้ เพราะไม่มีเอกสารยืนยันการนำเข้าจากกรมศุลกากร และจากเจ้าของเดิม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการประสานกับกรมศุลกากรให้เข้ามาตรวจสอบงาช้างทั้งหมดว่ามีการแจ้งนำเข้าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการนำเข้าถูกต้องก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติมตามพ.ร.บ.การนำเข้าของกรมศุลกากรต่อไป
ส่วนกรณีที่นางวันดี ผู้ต้องหาอีกรายให้การปฏิเสธว่าไม่ทราบงาช้างของนางคณิตาเป็นงาช้างแอฟริกา เพราะนางคณิตามีเอกสารถูกต้องครบถ้วน โดยในส่วนนี้นายบัญญัติ ฉายอรุณ ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า กรมอุทยานฯ เปิดให้ประชาชนนำงาช้างเข้าจดทะเบียนตามพ.ร.บ.งาช้างในปี 2558 ซึ่งขณะนั้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้นำงาช้างเข้าจดแจ้งจำนวนกว่าหมื่นราย โดยมีทั้งผู้ที่นำงาช้างมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในระหว่างการจดแจ้ง และอีกส่วนหนึ่งมีการนำภาพถ่ายมาใช้ประกอบการจดแจ้ง ซึ่งกรณีของนางคณิตาใช้การจดแจ้งผ่านภาพถ่ายและเอกสารครบ แต่นางคณิตายังไม่ได้รับใบอนุญาตครอบครองอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้รับการตรวจสอบงาช้างดังกล่าวว่าเป็นงาช้างบ้านของไทยตามที่มีการจดแจ้งไว้หรือไม่
นอกจากนี้ยังชี้แจงอีกว่ากรณีของนางคณิตาเข้าข่ายความผิดใน 2 พ.ร.บ. คือ 1. พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 ซึ่งนางคนิตานำงาช้างแอฟริกาไปจดแจ้งว่าเป็นช้างบ้านของไทย ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง มีความผิดตามพ.ร.บ. ดังกล่าว มีโทษยึดงาช้างให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ไม่มีโทษปรับหรือโทษจำคุก ส่วนความผิดที่ 2 เข้าข่ายตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 คือมีซากสัตว์หรืองาช้างแอฟริกาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะเข้าข่ายการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ต้องกลับไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาก่อน และต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน ก่อนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนของ ปทส.
โดยเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน นำตัวนางคณิตา และนางวันดี ไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดา เป็นผัดแรก โดยท้ายคำร้องไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว และล่าสุดมีรายงานว่าศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งนางคณิตาและนางวันดี โดยมีหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดคนละ 3 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไข เพียงแต่ให้ทั้งสองคนมารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้
สำหรับความคืบหน้าในคดีของนายเปรมชัย ที่ล่าสุดอัยการสูงสุดแถลงว่าขณะนี้สำนวนคดีของนายเปรมชัย ยังมีการสอบสวนที่ยังไม่สิ้นกระแสความอีก 3 ประเด็น และยังมีการทวงผลตรวจพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยพลตำรวจเอกศรีวราห์ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้รับผลการตรวจดังกล่าวมาจากกรมอุทยานแล้วเหลืออีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จะสมบูรณ์จึงจะสามารถส่งให้อัยการนำไปใช้ประกอบในสำนวนคดีได้ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งรัดไปยังกรมอุทยานให้รีบส่งผลที่เหลือมาให้กับพนักงานสอบสวน และยังเร่งรัดให้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนกรณีคดีรุกที่เขตอุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย เรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการ ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอให้ทางผู้ว่าฯ มีคำสั่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
+ อ่านเพิ่มเติม