นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งมีความผันผวนจากความคาดหวังและมุมมองของตลาดที่สวนทางกัน ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก และผลตอบแทนพันธบัตรไม่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2559 จาก 0.5% เป็น 1.5% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ส่งผลให้ค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเงินโลกผิดปกติมาจากการทำนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางหลายประเทศเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้สภาพคล่องล้นโลก สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะเริ่มส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี แรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และจะมีผลต่อการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนให้สูงขึ้นในอนาคต และไม่รู้ว่าตลาดจะกลับเป็นปกติอย่างไร
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับตัวเป็นขาขึ้นช่วงต้นปีนี้ ราคาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าราคาจะขึ้นได้เกิน 60 ดอลลาร์ จากการเข้ามาของเชลล์ออยล์ แต่ราคาน้ำมันก็ขึ้นกับการเก็งกำไรของนักลงทุน
"ปัจจัยเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนต้องเตรียมรับมือ ตลาดที่ดูดีอาจคล้ายคลื่นลมสงบก่อนคลื่นลูกใหญ่มา อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงและผันผวนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยน กระทบความยั่งยืนระยะยาวได้" นายวิรไทระบุ
(ภาพ : มติชน)
+ อ่านเพิ่มเติม