ความคืบหน้าการเสนอตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้มีการปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น
ในส่วนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. เปิดเผยว่า กรธ.จะหารือกันในวันพรุ่งนี้ และยอมรับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ กรธ. จะเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมปรับแก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่นประเด็นวิธีการเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว. ที่ถูกเปลี่ยนไป จากการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มเปลี่ยนไปเป็นการเลือกกันเองภายในกลุ่ม 2 กลุ่ม ซึ่งผิดไปจากหลักการ
ด้านฝั่ง กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เปิดเผยว่า กกต. จะหารือ กันในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เบื้องต้นมี 4 ประเด็นที่เป็นปัญหาในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. คือ เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้ 90 วัน, การจำกัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง, การขยายเวลาเลือกตั้งเป็น 7.00-17.00 น. และการให้มีมหรสพในการหาเสียง
ซึ่ง กกต.ได้ให้ความเห็นเบื้องต้นว่า ใน 3 ประเด็นแรกน่าจะไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มีเพียงประเด็นมหรสพประเด็นเดียว ที่อาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรมได้ หากมีข้อสรุปว่ามีประเด็นใดที่เป็นปัญหา กกต.จะทำความเห็นแย้งกลับไป ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย มีผลทำให้การประกาศใช้กฎหมายล่าช้าไปอีกประมาณ 1 เดือน
นายสมชัยเปิดเผยอีกว่า หลังจากที่ตนได้วิพากษ์ประเด็นกำหนดให้มีการจัดมหรสพหาเสียงว่าจะเข้าทางเอื้อพรรคใหญ่ ก็มี สนช.ในฝั่งผู้เสนอให้มีมหรสพ โทรศัพท์มาขอให้ กกต.เสนอความเห็นแย้งในประเด็นดังกล่าวเพื่อจะได้มีการแก้ไข ซึ่งตนชี้แจงไปว่าคงยาก สนช.ผูกเองก็ต้องไปหาทางแก้เอาเอง เหมือนเพิ่งจะมาเห็นเงาของโลงศพเลยกลัวต้องหลั่งน้ำตาในอนาคต
ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการ วิป สนช. เปิดเผยว่า สนช. ไม่สามารถเสนอความเห็นแย้งได้ เป็นอำนาจของ กรธ. และ กกต. ส่วน สนช. มีหน้าที่เป็นผู้ตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาความเห็นแย้งเท่านั้น โดยการตั้งกรรมาธิการร่วมจะประกอบด้วย ฝ่าย สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และ กกต. 1 คน รวม 11 คน โดยสัปดาห์หน้า ประธาน สนช.จะส่งร่างกฎหมายให้ กรธ. และ กกต. พิจารณา
ตามกระบวนการ เมื่อได้รับร่างกฎหมายแล้ว กรธ. และ กกต. มีเวลาพิจารณาเสนอความเห็นแย้งภายใน 10 วัน จากนั้น สนช. จะตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาภายใน 15 วัน และส่งเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบ นายสมชายกล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 50 วัน หรือ 2 เดือน
อย่างไรก็ตามหากมีการตั้งกรรมาธิการร่วมแล้ว สนช. มีมติเห็นชอบก็จะใช้ร่างกฎหมายฉบับที่กรรมาธิการร่วมปรับแก้แล้ว แต่หาก สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ ก็ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปและกลับไปเริ่มกระบวนการร่างใหม่
แต่หาก กรธ. และ กกต. เห็นว่าไม่มีประเด็นต้องโต้แย้งก็จะไม่มีการตั้งกรรมาธิการร่วม โดยประธาน สนช. จะเสนอร่างกฎหมาย ที่ผ่านวาระ 3 จาก สนช. ให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน
+ อ่านเพิ่มเติม