นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงรายละเอียดการจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือน ธันวาคม 2560 และประจำปี 2560 ว่า ในส่วนของธุรกิจจัดตั้งใหม่นั้นมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6,305 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,895 ราย คิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ธุรกิจสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,261 ราย คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ (ร้านขายทอง) จำนวน 467 ราย คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 388 ราย คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 146,984 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 124,732 ล้านบาท คิดเป็น 561 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุดได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 5,018 ราย คิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือทุน 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 991 ราย คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 296 ราย คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 14 ราย ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 ราย ธุรกิจโฮลดิ้ง จำนวน 6 ราย และตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1 ราย โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 680,269 ราย มูลค่าทุน 16.27 ล้านล้านบาท
ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 5,762 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 จำนวน 5,118 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 644 ราย คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 524 ราย คิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 303 ราย คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจค้าสลาก จำนวน 188 ราย คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 28,366 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 7,518 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 3,993 ล้านบาท คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2560 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 74,517 ราย ซึ่งเป็นสถิติการจดทะเบียนที่สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 10,229 ราย คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 70,000 ราย เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล จึงทำให้มีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มสูงในปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านค้าทอง ธุรกิจร้านขายยา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ภายใน 31 ธันวาคม 2560 เช่น มาตรการยกเว้นเงินภาษีในการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาให้นิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และมาตรการที่ให้ SMEs นำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งธุรกิจ ค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี ไปหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้อีก 1 เท่า ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สำหรับการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 21,444 ราย เมื่อเทียบกับปี 2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 506 ราย คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 16 เมื่อเทียบกับปี 2559
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถิติการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2560 มีจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นของมาตรการภาษีที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล สำหรับคาดการณ์แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2561 โดยพิจารณาค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ และสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เติบโตได้ราว 4 เปอร์เซ็นต์ และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2561 อยู่ที่ 3.6 - 4.6 เปอร์เซ็นต์ จึงคาดว่าใน ปี 2561 จะมีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ไม่น้อยกว่า 75,000 ราย และประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูง ยังคงอยู่ในกลุ่มก่อสร้างอาคารทั่วไปและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน