ผู้ตรวจการแผ่นดินไล่บี้ ทอท.เตรียมลงพื้นที่สนามบินดอนเมืองพร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง หาทางแก้ไขปัญหาขายสินค้าแพง การท่าอากาศยานแจ้งไม่ สามารถทำได้ เพราะต้องไปแก้ที่สัญญา พร้อมเตรียมใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่เรียกผู้บริการ ทอท.มาร่วมหาทางแก้ไขปัญหา
พลเอก วิทวัส รชตนันท์ รักษาการณ์ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงปัญหาการขายสินค้าแพงของร้านในท่าอากาศยาน ว่าทางผู้ตรวจการแผ่นขดินได้รับเรื่องของอาหารและน้ำดื่มแพงในท่าอากาศยาน ตั้งแต่ปี2559 และลงพื้นที่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 โดยคาดหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากนัก แต่กลับพบสัญญาที่ ทอท.ได้ทำกับร้านค้า โดยที่ท่านอากาศยานดอนเมือง สัญญาระบุว่ายอมให้ขายแพงว่าราคาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำร้อยละ 10-20 และที่สุวรรณภูมิ ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ผลปรากฏว่าทั้ง 2 แห่งขายเกินกำหนดร้อยละ 40-50 และ ทอท.โต้แย้งจนนำไปสู่การตั้งคณะทำงานที่มีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่สอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อกำหนดราคามาตรฐานในการอ้างอิง โดยให้ยกราคาของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน และเซ็นทรัล แต่ ทอท.กลับโต้แย้งโดยขอให้เพิ่มห้าง เอ็มควอเทียร์ และเซ็นทรัลแอมแบสซี่ แต่ ทอท.ทำสัญญาเมื่อปี 2548 จึงเห็นว่าข้ออ้างไม่สมเหตุสมผล ทอท.จึงต้องยอมจำนน เช่นเดียวกับกรณีน้ำดื่มเมื่อกวดขันก็ขายในราคา 10 บาท แต่หลังจากนั้นก็นำน้ำแร่มาขายแทน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมราคาได้ โดยขายที่ราคาขวดละ 35-70 บาท ซึ่งในปัญหาดังกล่าวในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าภาระเหล่านี้เกินจำเป็นต่อประชาชน และสร้างความเดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ทอท.ต้องแก้ไขปัญหา
พล.อ.วิทวัส ยังกล่าว ทอท.ได้ชี้แจงล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว โดยแจ้งว่าไม่สามารถลดราคาได้ เนื่องจากจะต้องแก้ไขสัญญา ซึ่งเป็นจังหวะที่กฎหมายผู้ตรวจฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม จะทำให้คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับ หากหน่วยงานที่ไม่แก้ไขตามที่ผู้ตรวจฯเสนอแนะ ผู้ตรวจฯ สามารถส่งเรื่องไปยังองค์อิสระอื่นให้ดำเนินการต่อได้ จึงยังไม่มีวินิจฉัยในก่อนหน้านี้ แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ตรวจฯจึงตั้งใจว่าจะลงพื้นที่อีกครั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อนถึงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งประชาชนจะใช้บริการกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดสงกรานต์
พล.อ.วิทวัส ยังกล่าวว่าจะมีการลงพื้นที่ในต้นเดือน ก.พ.นี้อีกครั้ง จะเชิญกระทรวงพาณิชย์ และ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ไปร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทราบว่านายกรัฐมนตรี ก็รับทราบปัญหาแล้ว และให้ความสนใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องท่าอากาศยานเป็นหน้าตาของประเทศ พึงรักษามาตรฐานของการทำงานและธรรมาภิบาล ซึ่งในการลงพื้นที่ก็หวังว่า ทอท.จะให้ความร่วมมือ ไปตรวจดูว่าสิ่งที่ตัวเองดำเนินการนั้นเป็นไปตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการจะแอบขึ้นราคาเองหรือไม่ เป็นเรื่องของ ทอท.ที่ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯพยายามเชิญผู้บริหารของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมหารือ แต่ก็มักถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งในกฎหมายใหม่ของผู้ตรวจฯ มาตรา 25 (1) ระบุว่าผู้ตรวจฯสามารถเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ มาให้ถ้อยคำได้ คราวนี้ก็จะเชิญผู้มีอำนาจเบอร์ของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็หวังว่าคงจะได้รับความร่วมมือ
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แนะให้ประชาชนที่เดินทางไปใช้บริการสนามบิน ไม่ต้องรับประทานอาหารที่สนามบิน แต่ให้ไปรับประทานที่ปลายทางแทนนั้น พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการหลีกเลี่ยง ซึ่งส่วนมากประชาชนที่เดินทางไปใช้บริการ ก็มักจะเป็นช่วงเวลาอาหารเช้า เมื่อไปเช็คอินแล้วจะมีเวลาเหลือ 1 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ดังนั้นหากลดราคา เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายอาหารสูงขึ้น พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่าง การขายอาหารที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ราคาอาหารในสนามบินไม่แตกต่างจากร้านทั่วไป ทำให้ผู้ใช้บริการกล้าที่จะรับประทาน ไม่ประเป๋าฉีกเหมือนในประเทศไทย ทอท.ควรคำนึงผลประโยชน์ของคนไทย มากกว่าผู้ประกอบการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม