ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือคนจนเฟส 2 ตั้งนายกฯเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาชีวิตผู้มีรายได้น้อย
logo ข่าวอัพเดท

ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือคนจนเฟส 2 ตั้งนายกฯเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาชีวิตผู้มีรายได้น้อย

7,065 ครั้ง
|
09 ม.ค. 2561
ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือคนจนเฟส 2 ตั้งนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาชีวิตผู้มีรายได้น้อย พร้อมเพิ่มเงินซื้อสินค้าต่อเดือนเพิ่มขึ้นให้คนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เริ่ม มี.ค.นี้ 
 
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีคณะกรรมการจังหวัด อำเภอด้วย เพื่อดูแลการช่วยเหลือระยะที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งสั่้งการให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.ดำเนิน 6 มาตรการ 18 โครงการ ซึ่งใช้งบประมาณจากการทำบัญชีโครงการตามนโยบายของรัฐ หรือ PSA รวมทั้งหมด 35,679 ล้านบาท 
 
เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ 4.7 ล้านราย พร้อมกันนี้ยังได้อนุมัติเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากเดิม 200 บาท จะได้เพิ่มเป็น 300 บาท และคนที่เคยได้ 300 บาท จะเพิ่มเป็น 500 บาท สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองในครั้งนี้ด้วย โดยให้มีผลในเดือนมีนาคม 2561 
 
ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.นั้น ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ด้วยการผ่อนปรนดอกเบี้ย หลักประกัน วงเงินกู้ และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 3 มาตรการ 9 โครงการ วงเงินรวม 95,000 ล้านบาท คือ มาตรการลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้มีรายได้น้อย 3,847 ล้านบาท 2.โครงการชำระดีมีคืนวงเงินรวม 4,620 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนวงเงินสินเชื่อ 19,000 ล้านบาท 3.โครงการสินเชื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท 
 
พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการการพัฒนาตนเอง ผ่านโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรลูกค้า และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ออม 90,000 ราย,การพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ 2 มาตรการ คือโครงการสินเชือชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและเงินลงทุนในการพัฒนาอาชีพ วงเงินในการดำเนินการ 4,875 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธกส.จำนวน 3.50% ต่อปี ระยะเวลารวม 3 ปี รวมเป็นเงิน 4,725 ล้านบาท โดยให้ธกส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และขอสนับสนุนการฝึกอบรมอีกปีละ 50 ล้านบาท รวม 3 ปี 150 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 -2566 และโครงการสินเชือเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือนแรก 0% จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ส่วนธนาคารออมสินนั้น มีวงเงินช่วยเหลือรวมกว่า 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อย รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินในการสร้างอาชีพเสริม หรือหารายได้เพิ่ม เช่น การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ,เปิดร้านค้าสตรีทฟู๊ด และธุรกิจโฮมสเตย์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจขนาดเล็กของตนเองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารออมสินยังส่งเสริมวินัยการออม ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้น้อย
 
 
นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชนที่มีรายจ่ายจากการจ้างผู้มีรายได้น้อยทำงานและจ่ายค่าอบรมต่อเนื่อง จะสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือถึงธันวาคม 2562 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง